ธรรมปัจจเวกขณ์ (67)
9 พฤศจิกายน 2519 ณ พุทธสถานสันติอโศก
ประโยชน์อย่างสูง หรือประโยชน์อย่างต่ำ อย่างต้น อย่างกลาง อย่างปลาย ทุกๆประโยชน์ เราจะต้องพยายามมีความละเอียด กำหนดหมายให้ถูกตัวถูกตน มันก็เป็นการคาดคะเนหรือเดาเอา แต่ก็ให้มีข้อมูล ให้มีหลักฐาน หรือว่าให้มีสัจจะ มีของจริง มีเนื้อหาของมันลงไปจริงๆ นั่นแหละ ถึงจะเป็นของจริง
อย่าเพิ่งผลีผลาม อย่าเพิ่งด่วนตัดสิน อย่าเพิ่งด่วนทำอะไร จนหลงตน ว่าตนมี ตนเป็น ตนเข้าใจ ตนมีอะไรต่ออะไร เพราะว่าผีหลอกมันเยอะ นี่โดยเฉพาะจิตของเรา หลอกเราเอง เยอะเหมือนกัน แต่อันใดที่แน่นอน ที่แน่ใจ แล้วก็อาศัยเวลาบ้าง แล้วเราจะแน่ใจๆๆยิ่งขึ้น แล้วมันก็จะเป็นผลสำเร็จ ฉะนั้น ในการมาเรียนรู้มากระทำนี่ เราได้จุดเป้าหมาย ที่เราต้องการเรียนรู้ ก็เรียนรู้ว่า เราเองนี่เป็นอยู่ มีชีวิตถูกทิศทางแล้ว เราต้องการอย่างนี้ มันเป็นความเบา ความง่าย ความสบาย แล้วก็เป็นประโยชน์ด้วย เราจะได้เสียซึ่งประโยชน์ตน เราเองเราได้สบายท่าเดียวนั้น ไม่ใช่ศาสนาพุทธทีเดียว ไม่ใช่อุดมคติที่เต็มของศาสนาพุทธ อุดมคติที่เต็มของศาสนาพุทธนั้น ได้ทั้งประโยชน์ตน คือเบาสบายง่าย โดยไม่ลำบากนัก แต่ลำบากก็รู้ลำบาก สู้ความลำบากได้อย่างเก่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้ตรัสว่า อรหันต์ของเรานั้น เป็นผู้ที่ทนได้ต่อสัตว์เหลือบริ้น กลางแดดน้ำลมฝน การกระทบต่อความเจ็บแสบเผ็ด ทนได้ อรหันต์ของเราต้องทนได้ด้วย กับสิ่งที่กระทบอย่างแสบ อย่างเจ็บ อย่างเผ็ดร้อน พระพุทธเจ้าถึงยืนยันอย่างนั้นด้วย และก็เป็นเรื่องจริง เพราะงั้น เรารู้สิ่งเหล่านี้ เราเรียกโดยสมมุติ ว่าแสบ ว่าเผ็ด ว่าเจ็บ ว่าหนัก ว่าลำบาก แต่ถ้าเราหมดถือสา เราจะรู้เลยว่า เราวางจิตของเราปล่อยนะ เราจะรู้ว่าเราวาง เราหมดถือสาแล้วเราสบาย นอกนั้นก็เหลือแต่องค์ประกอบ หรือเหลือแต่กรรม เหลือแต่การงาน เหลือแต่เหตุปัจจัย ที่มันทำงานของมันเอง ถ้ามีอะไรอยู่บนบ่า มันก็ต้องหนัก ก็เป็นเรื่องความหนักของวัตถุ ของสิ่งนั้น ว่าควรทำไหม ลงท้ายที่สุดอยู่ที่ว่า ควรหรือไม่ควร คนที่รู้ว่าควรหรือไม่ควรนั้นแหละ เรียกว่าผู้มีปัญญา โดยมีปัญญาวิเคราะห์จริง เอาหลักสัตบุรุษเจ็ด เอาหลักความเหมาะสม ที่เราเองทนได้หรือไม่ได้ ถ้าทนไม่ได้มันแย่ มันหนักมากไป เราถึงสุขภาพกายก็เสีย แต่จิตนั้นยิ่งไม่ต้องพูดถึง
ถ้าเราทรมานจนกายก็เสีย แต่ถ้ากายจะบุบสลายบ้าง เราก็ไม่ได้ถือสากาย กายมันจะต้องให้บ้าง เราไม่ได้หวงกายจนเกินไป เรารู้ด้วยว่า เราจ่ายกายไปขนาดนี้ เราได้ประโยชน์ทดแทนมาคุ้มกัน เราก็เสีย เสียกำลังกาย บางทีเสี่ยงๆ จะเสียไป บางทีร้อน จะร้อนจัดไป บางทีเท้าจะแตกเท้าจะพอง บางทีผิวจะเกรียมจะอะไร มันก็ไม่มีปัญหา ถ้าเราทำแล้ว เราเกิดผลให้แก่โลก ให้แก่ผู้อื่น เราก็เป็นการเสียสละที่เป็นสัจธรรมที่แท้ ว่าเป็นคุณงามความดี หรือเป็นค่าของมนุษย์ เมื่อเราเข้าใจอย่างแท้จริงแล้ว คนนั้นก็ทนได้ ใจก็วางเบา แล้วก็กระทำงานนั้นไป โดยที่ว่าให้กายิกทุกข์ เป็นทุกข์สภาวะ เป็นทุกข์ของด้านกาย จิตของเราวางเบาแล้ว เจตสิกทุกข์ก็หมดไป เมื่อเจตสิกทุกข์หมดไป เหลือแต่กาย เราก็รู้ความจริงตามความเป็นจริง ตามสภาวะแท้ เหตุปัจจัยจะต้องมีปฏิกิริยา มีการขัดกัน มีการทำลายกัน มีส่วนที่อันหนึ่งสูญไป อีกอันหนึ่งตั้งขึ้นก่อขึ้น เหมือนกับเราเอาฟืนไปเผา ฟืนก็สลายไป แต่เราได้ความร้อนมากขึ้น ความร้อนก็ไปต้มไอ้นั่น ไปเผาไอ้นี่ ไปหลอมไอ้นู่น หรือไปสร้างอันนี้ขึ้นมาอีกใหม่ ก็เปลี่ยนย้ายกันไป ทดแทนกันไปอย่างนี้ เราก็รู้ว่า ส่วนหนึ่งเสีย และมีส่วนหนึ่งเกิดขึ้น ส่วนหนึ่งได้ขึ้นและดีกว่า สมควรกว่า ดีควรจะเกิดขึ้นในโลกด้วยซ้ำไป อย่างนั้นก็ไม่ใช่ความทำลาย หรือความสูญเสียอะไร เราก็เป็นการจ่าย และเราก็เป็นการสร้างความเกิดอยู่ในตัว นี่เป็นหลักสัจธรรม เป็นเรื่องของธรรมดาของโลก ไม่ใช่ความประหลาดอะไร เราพ้นทุกข์ เพราะเจตสิกทุกข์หมดไป ส่วนกายิก ส่วนทางรูปทางวัตถุ มันก็ดำเนินไปตามความเป็นจริง ผู้ใดรู้เท่าทัน ผู้นั้นเข้าใจสุดซึ้ง ผู้นั้นก็สบาย มีชีวิตที่สบาย หมดทุกข์ เรียกว่าหมดเจตสิกทุกข์นั่นเอง และก็ทำตามที่เราจะสามารถทนได้ สามารถรู้ได้ พิจารณาโดยไม่เข้าข้างตัวตน ไม่มีแล้ว ทำไปโดยปัญญาของเรารู้ว่า นี่ดีที่สุด เท่าที่เราจะทำได้ ก็เป็นอันเจริญที่สุดแล้ว มันจะไหลเอียงเท
เมื่อเราทำ เราจะฉลาด เราจะรู้ และเราจะทนได้มากขึ้นๆ โดยไม่ต้องใช้คำว่าทน มันทนได้โดยไม่ยาก ทนได้โดยไม่ลำบากมากขึ้น เพราะฉะนั้น จะทนต่อความเจ็บแสบเผ็ดร้อน สัตว์เหลือบริ้นคลาน หรือแม้แต่ลมแดดน้ำฝนอะไร เราจะทนได้ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสอย่างแท้จริง.
*****