ธรรมปัจจเวกขณ์ (68)
10 พฤศจิกายน 2519 ณ พุทธสถานสันติอโศก
ทุกคนต้องพยายามตรวจดูข้อบกพร่อง ที่เราเรียกกันว่า “สักกายะ”
สักกายะของตน ความบกพร่อง หรือว่าความที่ยังไม่ดีพร้อม ทั้งด้านจิตใจ ทั้งด้านการประกอบออกมา เป็นกายกรรม เป็นวจีกรรมของเรา สิ่งนั้นมันก็เกิดมาแต่ใจ สักกายะนั้น มันก็เกิดมาแต่ใจ มันเอาคนนั่นแหละเคยชินมันมา คนนั่นแหละหลงผิด หรือว่าถ้าไม่หลงผิดแล้ว แสดงว่าเราเป็นพระอริยะ หรือฉลาด เรารู้ว่าอ้อ.. อันนี้เป็นข้อบกพร่องของเรา อันนี้เป็นเรื่องที่ยังหยาบกร้าน ยังหนาแน่น ยังทำให้เรารู้สึกว่ามันเป็นภัย เบียดเบียนท่าน เบียดเบียนตัวเอง เป็นไปเพราะอำนาจ ที่มันแรงร้ายกาจดุเดือด จะทำลายผู้อื่น เรียกว่าโทสะหรือพยาบาท และมันเป็นไปเพื่อที่จะหลงยึด หลงหอบเสพย์สม ให้แก่ตนอย่างแรง เรียกว่าโลภะหรือราคะ เราเข้าใจให้ชัด เข้าใจให้จริง มันมีระบบอยู่อย่างนี้นะ ไม่แปลกเปลี่ยนอะไร รู้ให้ชัด แล้วก็ต้องยอมรับ ถ้าไม่ยอมรับ เราไม่ได้แก้ตน ไม่ได้เรียกว่า “อริยะ”
ถ้าเรายอมรับ เรารู้แล้วว่า ไอ้นี่เป็นสักกายะ เป็นข้อบกพร่องใหญ่ของเราหนอ แล้วเราก็จะต้องตั้งศีลตั้งพรต มีแบบปฏิบัติ มีหลักเกณฑ์ที่จะยึดถือ เพื่อที่จะล้าง เพื่อที่จะให้เป็นเครื่องกัดกร่อนทำลาย หรือว่าทำให้มันจางคลาย หรือว่าเปลี่ยน แม้ไม่มีอะไรเลย ก็เปลี่ยนให้มันเคยชินอย่างใหม่ ทำอย่างที่เคยทำอยู่นั้นมันไม่ดี ก็จะมีสติสัมปชัญญะรู้ แม้มันออกมาทางกายแล้ว กายที่กำลังกระทำอยู่อย่างนี้ ใหญ่ๆ หยาบๆ แท้ๆ ก็ต้องรู้ให้ชัดว่า นี่ไม่ควรประกอบ ไม่ควรกระทำให้เกิดให้มี ต้องพยายามให้ลดละลง จนถึงที่สุด จิตใจที่มันไปผูกพัน ติดยึดรักใคร่ ยึดถือเห็นดี จะต้องเข้าใจให้ชัดว่า มันไม่ควรไปหลงใหลเห็นดี ให้มากจริงๆ กระหน่ำมันเสมอ บอกจิตเสมอ ให้จิตมันพยายามรู้ตัวให้ลึก ให้แน่น ให้เห็นจริงเสมอๆบ่อยๆ และไม่ใช่ว่า แกล้งพูดแกล้งให้มันรู้ ไม่ใช่กระหน่ำให้มันรู้เฉยๆ ด้วยวิปัสสนา คือ พิจารณาหาเหตุหามูล หาองค์ประกอบ หาให้มันเจอ ว่ามันไม่ดีมันไม่งาม ส่วนนั้นส่วนนี้ มันพาทำลาย มันพาเสื่อมเสีย มันพาลดค่าที่มันไม่ควรลด จะต้องพยายามเห็นจริง และก็ต้องพยายามกระทำปฏิบัติ มันจึงจะเป็นการกระทำที่แท้จริง
นี่เป็นความฉลาด ฉลาดเรียกว่า รู้สักกายะ รู้ศีลรู้พรต ให้ประพฤติ ไม่ใช่ประพฤติเป็นเพียงปรามาส แต่ประพฤติแล้วเห็นจริงว่า มันลดได้คลายได้ อ่อนลงไปในทางที่ดี เราเจริญขึ้นจริง จิตเราก็อ่อนลงอ่อนโยน จิตก็เป็นไปดี หรือจิตที่อ่อนแอเกินไป ก็แข็งแรงขึ้น มีอินทรีย์มีพละ และการที่ไปติดไปยึด ก็เบาบางลง หลงใหลเป็นกิเลสตัณหา เป็นความยึดถือมั่นคง ก็ลดลงจริง จางลงจริง คลายลงจริง เมื่อจางคลายแล้ว ก็เห็นผลซ้อนลงไปอีกว่า มันวางมันเบามันง่าย มันสะดวก มันเรียบรื่นงาม มันทั้งเรียบและมันทั้งรื่นทั้งง่าย มันเรียบด้วยเรียบร้อย เรียบดีและง่ายและงาม มันเรียบ-ง่าย-งาม มันเป็นไปอย่างนั้น คนอื่นก็เห็นด้วยเข้าใจด้วย สำหรับผู้ที่เป็นอริยะด้วยกัน เข้าใจทันที สำหรับผู้ที่ไม่ใช่อริยะ พอพูดกันจริงๆ แจกจ่ายกันจริงๆ เขาก็จะเห็นได้เหมือนกัน เราบอกคนที่ไม่ดื้อด้านนัก และเราสามารถบรรยาย หรือว่าแจกแจงให้เขาฟังได้ พอมีเหตุมีผล มีความจริงในตัวมันเอง ถึงเรียกว่า สัจธรรม
การรู้ ไม่ได้รู้อื่น รู้สิ่งที่ตนเองยังหยาบกร้าน หรือยังแรงยังมาก หรือว่าอ่อนไป เบาไป ป้อแป้มากไป ก็ต้องพยายาม ต้องให้เพิ่มมากขึ้น มาหาความพอดีพองาม มากไปมันจัดจ้าน มันเผาผลาญหรือมันทำลาย ก็ต้องลดลงมา ต้องเข้าใจโดยสัจจะ โดยสภาวะแท้ๆ ที่พูดภาษานี่กลางๆแล้ว ภาษาธรรมะแท้ๆ ต้องให้เข้าใจโดยจิตโดยกรรม โดยกรรมที่เป็นทางกาย กรรมที่เป็นทางวจี ถ้าเราไม่รู้ผิด ไม่รู้ว่าเราบกพร่อง เราไม่เป็นอริยะซักที เราจะเป็นอริยะต่อเมื่อรู้ว่า อันนี้เป็นจุดบกพ่องของเราอยู่ แล้วเราก็แก้ได้จริงๆ จึงจะเรียกว่าอริยะ ปรับปรุงอยู่ อันใดหลุดพ้นหมดแล้ว อย่างนี้ไม่มีแล้ว พ้นขาด ความดีนี้เป็นความดีจริงแล้ว กายกรรมก็ดีเหมาะสมพร้อม วจีกรรมก็ควรเหมาะสมพร้อม แล้วไม่มีที่ท้วงติง ตนก็ท้วงติงไม่ได้ ผู้อื่นก็ท้วงติงไม่ได้ อย่างนั้นมันก็บริบูรณ์ เพราะฉะนั้น จะต้องพยายามเข้าใจสัจธรรมง่ายๆ หรือว่าหัวข้อปฏิบัติธรรมง่ายๆ ว่าสักกายะ และศีลพตปรามาส ต้องรู้ให้ชัดเจน พ้นวิจิกิจฉาแล้ว มันจะลดหยาบ ตั้งแต่เอาคำมาเรียกว่า กามราคะ พยาบาทหรือปฏิฆะ นั้นก็จะลดจริง เหลือเศษไล่เข้าไปละเอียด จนถึงจิตที่เป็นรูปราคะ-อรูปราคะ
แม้ข้างนอกไม่มีใครรู้ ไม่มีใครเห็น เราก็รู้เป็นรูปราคะ เราก็รู้ว่าเป็นอรูปราคะ เรารู้ว่าเป็นมานะ มานะไม่ใช่มีแต่ตอนปลาย ไม่ใช่มีแต่ในจิตใจ ไม่ใช่มีแต่จิตชั้นสูง มานะอย่างหยาบก็มี มันถือตัวถือตน มันดื้อด้าน มานะที่อย่างหยาบ เราเรียกว่าคนดื้อ คนหัวดื้อเอาแต่ใจ สอนไม่ฟัง สอนไม่ทำตาม อยากใหญ่แรง จนไม่รู้ขั้นตอน ไม่รู้ว่าผู้อื่นเขาใหญ่โดยสมมุติ หรือว่าผู้อื่นเขาใหญ่โดยจริง แม้แต่แค่สมมุติ ก็ยังไม่ยอมรับสภาพ ไม่ทำตามสภาพ มันอยู่ยาก อยู่กับหมู่ก็ยาก มันรู้สมมุติก็ทำตามสมมุติ และก็เบาใจ ตรงที่เราไม่ยึดถือเป็นมานะ และก็ลดปล่อย แม้ใครจะต่ำกว่าเราอย่างไร แต่เราเองเราปล่อยวางแล้ว เพราะสมมุติเขาใหญ่กว่า เราก็วางได้ ผู้นั้นคือพระอริยะ ผู้วางไม่ได้ ก็คือคนโง่อยู่อย่างเก่า ผู้ไม่เข้าใจความเป็นจริง ตามความเป็นจริงแล้ว ก็ทำจริงไม่ได้ เพราะฉะนั้น จะมีการรู้ด้วยทฤษฎีด้วยภาษา ด้วยอะไรต่างๆนานา แค่ใดก็ตาม ถ้าเรารู้ไม่จริง แล้วไม่กระทำจริง มันก็ไม่จริงอยู่นั่นเอง เราต้องรู้ให้จริง กระทำให้จริง ปรับเปลี่ยนให้จริง แล้วเราจะเป็นผู้พ้นทุกข์ มานะก็ไม่มี
สุดท้าย อุทธัจจะก็รู้เท่าทันอุทธัจจะ อุทธัจจะที่เป็นกุกกุจจะ หรืออุทธัจจะที่เป็นเศษเหลือ ที่มันเกิดจริงอยู่ จริงก็รู้จริง ถ้ามันเป็นตัวเกิดเป็นอุทธัจจะ ที่เรายังหลงให้มันเป็นนายเรา ให้มันเป็นเจ้าเรา เราก็ตกเป็นทาสมันอยู่นั่นเอง ไม่ว่าจะดีขั้นไหนก็ตาม พออุทธัจจะ เมื่อมันไม่มีกุกกุจจะแล้ว ไม่ทุกข์แล้ว เราก็ยังจะเป็นทาสจิต ที่มันลอยเหนืออะไร แล้วก็ไม่ไปเอามัน เหนือ มาเป็นเศษเสี้ยว จนกลายมาเป็นมานะ ตนถือตัวถือตนเข้าไปอีก ซ้ำซ้อนอยู่ เราก็จะเป็นผู้ที่รู้จริง บริบูรณ์จริง จึงจะชื่อว่าเป็นผู้พ้นอวิชชาสังโยชน์ อันที่สุดที่แท้จริง ที่พูดนี่ก็ซ้ำซาก แต่ก็พยายามเข้าใจให้หยั่งถึง อย่าฟังแต่หูเปล่าๆ ว่าซ้ำ ก็อย่าฟังแค่หู ต้องพิจารณาเทียบเคียงกับความจริง เราเข้าใจแง่มุมให้ชัด แล้วก็พยายามปฏิบัติให้ได้จริงๆ ประโยชน์เป็นของคุณเอง.
*****