ธรรมปัจจเวกขณ์ (69)
11 พฤศจิกายน 2519 ณ พุทธสถานสันติอโศก
ผู้ที่มีปัญญาแล้วจริงนั้น คือ ผู้ที่เราเรียกโดยภาษาว่า “อริยะ” หรือ “อัจฉริยะ” หรือผู้ที่มีญาณทัสสนวิเสส หรือทางภาษาทั่วๆไปก็เรียกว่า อารยะธรรม ภาษาพวกนี้เป็นผู้ที่หมายถึง ผู้มีปัญญาจริง ถ้าปัญญาเป็นเพียง ฉลาดและแกมโกง เราไม่เรียกอารยะ เราไม่เรียกอริยะ เราไม่เรียกอัจฉริยะ เราเรียกอีกภาษาหนึ่งว่า เฉโก เฉโกก็แปลว่าฉลาด ฉลาดเฉียบแหลม แต่นัยของเฉโกนั้น มันฉลาดเฉียบแหลมแบบโกงๆ เพราะฉะนั้น เราต้องรู้ตัวเสมอว่า เราเองนี่ฝึกตน เพื่อที่จะไปฉลาด แต่เมื่อเราฉลาดแล้ว เราฉลาดอย่างเฉโก หรือเราฉลาดอย่างอริยะ ถ้าเราฉลาดอย่างอารยะหรืออริยะ รู้ความเสียเป็นเสีย รู้ความได้เป็นได้ ผู้ที่ได้แท้จริงนั้นหนะ ได้ความเสียสละ เราก็รู้ว่าการเสียสละ เป็นยอดเป็นเลิศของมนุษย์ เพราะฉะนั้น ผู้ได้เสีย ผู้นั้นคือผู้ได้แล้วอย่างแท้จริง ชื่นใจ ถ้าจะบอกอย่างชาวโลกๆ ว่าชื่นใจ เราได้เสียสละเป็นของดี นั่นคือสัจจะ เพราะฉะนั้น เราอย่าเบี้ยว ทุกคนจะต้องรู้ว่าเราได้เสีย เราได้เป็นผู้ที่เสียไป จ่ายไปขาดทุนไป ให้แรงกายให้แรงปัญญา ให้แก่เขาได้
เมื่อเราให้ได้ แม้แต่แรงกายแรงปัญญา ไม่ต้องพูดถึงวัตถุ เพราะว่าวัตถุเป็นของแน่ว่าเราให้ได้ ก็ถูก แล้วเห็นอยู่ชัดๆ ว่าเราให้ได้ แม้แต่แรงกาย แรงปัญญา เราทำมากจ่ายมาก ให้มากสร้างก่อมาก และเราก็กินน้อยใช้น้อย รับน้อยเปลืองน้อย เป็นผู้ที่อยู่ในฐานะของผู้ประหยัดแท้ แต่เป็นผู้ที่ก่อประโยชน์ให้แก่โลก เราทำมากให้มาก อย่าว่าแต่โลภเลย แม้แต่ในสังคมเอง ในหมู่กลุ่มเอง เราก็เป็นผู้ทำได้มาก ให้ประโยชน์ได้มาก เป็นผู้เปลืองน้อย ประหยัดอยู่ในหมู่กลุ่ม เราก็ชื่อว่าผู้เจริญ หรืออารยะหรืออริยะ หรืออัจฉริยะแท้ ไม่น้อยใจ ไม่นึกเทียบเคียง ไม่อิจฉาริษยา ไม่ตระหนี่แรง ไม่ตระหนี่ปัญญา ไม่ตระหนี่สิ่งที่เราก่อได้สร้างได้ มีพฤติกรรมได้ สามารถเป็นผู้ที่บันดาลหรือกระทำ ไม่ตระหนี่แรงงาน ผู้นั้นทำและก็เกิดผลดีอยู่ จึงเรียกว่า เป็นผู้ที่อัจฉริยะ รู้แพ้ ไม่เสียใจ เพราะเรารู้แล้วว่า เสียนะคือกำไร เพราะฉะนั้น จะมาทำให้ใจของเรา ที่เราเข้าใจจริงๆแล้วนี่ มันน้อยอกน้อยใจหดหู่ รู้สึกว่าเราด้อย ไม่ด้อยนี่ เราเจริญ เราให้มาก เราจะด้อยได้ยังไง เราจ่ายแรงกายได้มาก เราจ่ายแรงปัญญาได้มาก แล้วเราก็ทำ ผู้อื่นรับผลไปจากเราอยู่แท้ๆ เสียสละอยู่ออกมาอย่างนี้ เราจะเป็นผู้ด้อยได้ยังไง เราไม่ใช่คนด้อย
เราเป็นคนที่ใหญ่จริงๆด้วย และคนที่ใหญ่จริงๆ รู้ความใหญ่จริงๆแล้ว จะไม่เอาใหญ่นั้นไปทับถมใคร จะไม่เอาใหญ่นั้นมาอวดอ้าง จะไม่ให้ใหญ่นั้นไปดูคนอื่น เขารู้สึกว่าเราเองนี่ใหญ่ แล้วเขาเหมือน เขาก็ลำบาก ไม่ให้อย่างนั้น แต่คนที่ศรัทธาเลื่อมใส เห็นใหญ่จริงแล้ว แม้เราจะใหญ่ไป เขาก็ยกให้อีกเลย เชิดเลย คนนั้นก็เป็นจริง คนที่เขาเชิดหรือว่าเขายกย่องจริง เขาดีเป็นจริง ส่วนบางคนเขายังไม่ยกย่อง เพราะมีมานะกิเลส มีมานะทิฏฐิในใจ ไม่ยอมยก เขาไม่ยอมรับว่าเขาใหญ่กว่า เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ที่ใหญ่กว่าจริงนั้น แม้ใหญ่กว่าจริงแล้วหละ มาทำใหญ่ให้แก่เขาผู้นั้น เขาผู้นั้นก็จะไม่ชอบใจ โกรธ เกลียด และเบ่งทับกันทะเลาะกัน เป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ใหญ่จริงแล้วจะรู้ มีปัญญาซ้อนลงไปรู้ว่า อ๋อ… คนนี้เขามีมานะ เขาไม่ยอมให้เราใหญ่ เขาไม่ยอมเรา เขาไม่ศรัทธาเรา คนนั้นก็ปล่อยเฉย เขาข่มขี่ก็ยอมด้วยซ้ำไป
การยอมให้เขาข่มขี่นั้นหนะ ดูๆแล้วก็คล้ายกับว่า เราทารุณเขา คล้ายๆกับว่า เราปล่อยให้เขานี่ย่ามใจ ปล่อยให้เขาทำชั่ว แต่แท้จริงแล้ว เราสุดที่ เราไม่ต้องการความทะเลาะเบาะแว้ง เราไม่ต้องการความบาดหมาง เราไม่ต้องการความแตกแยก ผู้ที่โตแล้วเป็นพี่ จึงยอมสงบ หรือผู้ที่โตแล้วจริง เป็นพี่เป็นพ่อ จึงยอมหยุด หยุดให้แก่ผู้น้อย เพราะผู้น้อยนะ มันเอะอะมะเทิ่ง มันไม่รู้ มันยังโง่ จึงยอมให้ แต่ก็ต้องฉลาดฉีดยา ฉลาดแฝงยาเข้าไปในขุมขน ต้องฉลาด ฉลาดอย่าให้เขารู้สึกเจ็บ อย่าให้เขารู้สึกไป เดือดร้อนไป ต้องฉลาด ถ้าไม่ฉลาดแล้วแตกแยกจริงๆ ต้องสำนึกให้มาก และโดยเฉพาะ ผู้ที่ยังน้อยยังเด็กยังเล็ก อย่าเหิม อย่าเห่อเหิม อย่าอาจหาญมากนัก อย่าหลงตัวมากนัก อย่าให้มีมานะใหญ่โตนัก มีดีนิดหน่อยก็ผยองเกินไป ทำเป็นอวดรู้ บางทีได้แค่ปัญญา แค่ฟังแค่พูด แค่รู้แต่แค่ภาษา เนื้อหาสาระยังไม่มี ก็ผยองใหญ่ ระวัง! ไม่ดี เราเท่ากับฆ่าตัวเอง เราไม่ได้ประโยชน์อะไร จากการกระทำนั้น บอกแล้วว่า คล้ายๆกับว่า ผู้ใหญ่ปล่อยให้เราทำอย่างนั้น ไม่ใช่เขาเองเขายอมแพ้ โดยเขากลัวหรอก ดูอีกทีหนึ่ง เขาเองเขาทำแล้วคล้ายๆกับว่า เขาทำโดยปล่อยให้เราทำชั่ว เพิ่มขึ้นไปอีก ไม่ช่วยดูแล และกลายเป็นการซ้ำเติมเราด้วยซ้ำไป ดูแล้วน่าเศร้าใจ
ถ้าไม่รู้ตัวเสียโดยฉลาด อย่างแท้จริงแล้ว เรากลับตัวอะไรไม่ได้ เราเปลี่ยนอะไรไม่ได้ เราสูงขึ้นไม่ได้ ต้องพยายามฉลาดรู้ให้แท้จริง แล้วจะอยู่กับโลก เป็นผู้ที่เข้าใจความเสียความได้ เป็นอัจฉริยะจริงๆ เป็นอารยะที่จริง เป็นผู้ฉลาดจริง ไม่ได้ฉลาดแกมโกงที่เป็นเฉโก หรือฉลาดโง่ๆ ตัวฉลาดหรือตัวแท้ๆ ก็ไม่รู้ อวดฉลาดเบ่งเขาอยู่เรื่อย ผู้ฉลาดแท้จริงนั้น คือผู้ที่โง่ตลอดเวลา ผู้ทำตัวเป็นผู้ถ่อมตน เป็นผู้เหมือนโง่ อยู่ตลอดเวลา แต่แท้จริงฉลาด ที่จะแสดงความใหญ่ในนัย ไม่ใช่ฉลาดโดยเบ่งเป้งๆ ออกไปเลย อย่างนั้นมันโง่ ผู้ที่ฉลาดและใหญ่โดยนัย คนฉลาดด้วยกันถึงจะยอมรับ และคนฉลาดด้วยกันจะเห็น จะยกขึ้นมาอย่างศรัทธาเลื่อมใสด้วยซ้ำไป นี่เรียกว่า อัจฉริยะจริง หรือเรียกว่า เป็นผู้ที่ฉลาดแท้ ที่ใช้คำเรียกว่า อริยะ หรืออารยะชน ดังได้กล่าวแต่ต้นแล้ว
จงสำเหนียกให้มาก อย่าทำตนเป็นผู้ฉลาดเฉโก.
*****