ธรรมปัจจเวกขณ์ (70)
12 พฤศจิกายน 2519 ณ พุทธสถานสันติอโศก
ความหมายของอะไรใดๆ เมื่อเรากำหนดรู้ แล้วก็รู้มาที่หยาบ ที่กลาง ที่ละเอียด เกี่ยวข้องกับกาย-วจี-มโน แล้วเราก็พยายามที่จะกำหนดรู้ ให้ชัดเจนว่านั่นหยาบ นี่ปานกลาง นี่ละเอียด เพราะฉะนั้น บางครั้งบางคราว ในส่วนละเอียดนั่น เป็นเพียงแต่แนวโน้มที่เราจะดึงคน เราเองเราพักที่ละเอียด ของละเอียดของง่าย ของละเอียดของลึก ของละเอียดของเบา เราก็มีอันนั้นเป็นสันตวิหาร เป็นของพักของผ่อน ส่วนกลางนี่ก็อยู่ในนั้น มีเนื้อมีหนัง มีความพอดี ได้อัตถะได้รสได้สาระ ถ้าหยาบมันแรง มันก็กร้าน มันมากไป มันทำความทำลายจัดจ้าน เราจึงเอาตัวเป็นกลาง นั่นแหละ กำลังได้เนื้อได้หนัง น้อยไปเบาไปละเอียดไป ถ้าไม่ได้เหตุได้ปัจจัยของมันครบ มันก็ไม่มีผล ไม่มีสาระ
เราจะต้องพยายามเข้าใจถึงสาระอันนี้ ให้ชัดเจนทีเดียว พิจารณาการกระทำ การมีชีวิตการงาน งานส่วนที่ตนยังไม่แล้ว ก็ทำให้มากๆขึ้น ก็ไม่เป็นไร เราจะมีส่วนอื่นน้อยหน่อย ก็ไม่เป็นไร เมื่อเราได้บ้างแล้ว เราก็คิดเอื้ออนุเคราะห์คนอื่นบ้าง แต่อย่าเพิ่งอยาก อยากจะอวดสิ่งที่เราเพิ่งได้ เพิ่งเป็นเพิ่งมี ซึ่งยังไม่มากไม่มายอะไรนัก ประเดี๋ยวหมดตัวไวนะ เพิ่งได้ห้าก็รีบจะใช้เงินห้า เพิ่งได้สิบก็รีบจะใช้เงินสิบ ให้มันมีเนื้อมีทุนรอนอะไร รองรังเสียก่อนบ้างพอสมควร แล้วเราถึงค่อยใช้ แน่ใจแล้ว มีพอที่จ่ายอย่างไร ก็ไม่หมดง่ายหรอก หรือว่ามีพอ เป็นสิ่งหมุนเวียนพอสมควร เรียกว่าทุนรอน เราหัดทำ แล้วเราก็ช่วยเกื้อกูลผู้อื่น หมุนไปเวียนไป เราจะได้เป็นผู้กำไร จนกระทั่ง รู้ละเอียดไปจนกระทั่งว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดมา ดำเนินไปตามกาละเวลา โดยเราจะกำหนดสาระ กำหนดสิ่งที่เป็นอย่างนั้นๆ ขึ้นมาเป็นประโยชน์ในโลก จึงเรียกว่า เป็นผู้ที่รู้อายุ อายุก็คือผู้ที่เอาเวลากับสาระ มาประกอบกันเข้า ก็เป็นอายุ แล้วเราก็จะรู้วรรณะ โดยการทำออกมา ให้มันโตมันใหญ่ขนาดไหน มันถึงจะเป็นเนื้อหาสาระ ที่ได้ประโยชน์สูงสุด โดยดูขอบเขตของผิว หรือดูขอบเขตของส่วนนอก ที่มันสัมผัสได้รสได้ชาติ หรือว่าได้เรื่องได้ราวพอดีแล้ว ถ้าผิวมันแก่ไปจัดไป แรงไปหยาบไป ไม่ค่อยได้เรื่องไปก็ไม่เอา หรือว่าผิวยังไม่สัมผัส ผิวยังไม่แตะ ผิวยังไม่ถึงจุด เราก็ต้องเพิ่มขึ้นมาให้ถึง จึงเรียกว่าผิว เพราะฉะนั้น ถ้าเผื่อว่าอยู่ในภาวะปกติ อายุก็ดี วรรณะก็ดี สุขก็ดี หรือแม้แต่เอาโลภเข้ามาใส่อีก หรือแม้ที่สุดถึงขั้นพละ เราก็ต้องเข้าใจให้ได้ว่า ในภาคปฏิบัติ
พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า อายุของภิกษุหรือผู้ปฏิบัตินั้นคือ “อิทธิบาท” อายุของภิกษุคืออิทธิบาท เป็นการอธิบายความว่าอายุ หมายเอาอายุ จงเอาอิทธิบาท การฉันทะ-วิริยะ-จิตตะ-วิมังสา ในสิ่งที่เราจำเป็น ในสิ่งที่เรากำลังจะใฝ่เพียรเสมอ เพื่อให้เกิดผลนั้นเป็นที่สุด นั่นเรียกว่าทำอายุ ไม่ใช่ทำอายุอย่างโลกๆ ไปเลี้ยงขันธ์เลี้ยงกาย เลี้ยงอะไรต่ออะไรอยู่ ไม่ใช่, แต่เราต้องรู้ว่า เราจะทำอะไรอันนั้น ต้องมีฉันทะในอันนั้น และเรามีจิตตะมีวิริยะอยู่ในอันนั้น ปรับปรุงแก้ไขให้ดี ที่เรียกว่าอายุ
วรรณะก็คือ “ศีล” คือหลักเกณฑ์ที่เรารู้แล้ว ระเบียบการ กติกา เพื่อที่จะให้มันชำระ ให้มันฟอก ให้มันทำให้เราดีขึ้น ถ้าเรามีได้สะอาด ตามหลักเกณฑ์นั้นอยู่เสมอ เรียกว่า เรามีวรรณะดี มีผิวดี มีการอยู่ได้โดยรอบรัด ถูกแล้วเหมาะแล้ว โดยมีขอบเขตของเรา จะต้องอยู่อย่างนั้น ไม่ทำอะไรให้สลาย และตนเอง ก็ได้ทำสิ่งที่ตนเองควรจะละ ควรจะล้าง ควรจะสลาย ควรจะเสื่อม ควรจะคลาย คือความชั่ว หรือความเคยชินที่มันไม่ดี สิ่งที่มันไม่ดี จึงถือว่าศีล นี้เป็นวรรณะของภิกษุ :
ส่วนสุข นั้นหมายเอา “ฌาน” หมายความว่า เรารู้ วิตกวิจารมารู้ แล้วเข้าใจในนิวรณ์ต่างๆ แบ่งแยก เกิดรู้ดีเห็นดีที่จิตของเรา ลดกามฉันทะ ลดพยาบาท ลดถีนะมิทธะ ลดอุทธัจจะกุกกุจจะ ลงได้อยู่เรื่อยๆ รู้มันชัด และก็พยายามลดรามันได้ มีสภาวะเผาผลาญลงไป หรือลดลงไปได้ เราเรียกว่าฌาน อย่างนั้นแหละเบา เราจะรู้ความเบาความง่าย มันเบาลงเพราะมันลดลง มันสบายขึ้น มันง่ายขึ้น จึงเรียกว่าสุข สุขด้วยความมักน้อย สุขด้วยความลดลง หน่ายลง ล้างออกเลิกออก จึงเรียกว่าสุข ไม่ใช่สุขเพราะมีเพิ่มเข้า มากเข้า เยอะแยะเข้า หนักเข้า เป็นภาระติดตรังติดตรึงเข้าไปอีก ดึงเข้าไปอีก อย่างนั้นไม่ใช่สุข สุขเพราะเรารู้มาก่อน อ่านที่จิตเราหน่าย ปล่อย วาง เบา ง่ายลงมา จึงเรียกว่า ฌาน สุขของพระหรือภิกษุก็คือ จิตเป็นฌานได้ รู้ดีแล้วรู้จักวาง รู้จักอุเบกขา รู้จักเฉย จึงเรียกว่าสุข :
โภคะ คือพรหมเมตตา พรหมวิหารที่มีเมตตา มีพรหมวิหารเป็นโภคะ เป็นสมบัติของพระ พระมีสมบัติอยู่ที่เมตตาผู้อื่นช่วยผู้อื่น นี่เป็นค่าเป็นราคา เป็นความเจริญ มันจะต้องมาเป็นขั้นตอนด้วย มันจะต้องได้วิมุติ หรือว่าได้ฌานมาเรื่อยๆด้วย
จนสุดท้าย เราได้สิ่งที่ยืนยันของตัวเราเองเลย เรียกว่าพละ กำลังใหญ่ และมีกำลังเต็ม มีทั้งกำลังของปัญญา มีทั้งกำลังของการหยุด การวาง การปล่อยได้จริง จึงเรียกว่า “อุภโตภาควิมุติ” เป็นทิฏฐธรรมสุขวิหารอยู่ ได้อยู่ทุกปัจจุบัน ได้อยู่ทั้งรู้ทั้งเห็นตลอดเวลา จึงเรียกว่าเป็นพละ พละของพระก็คือ ฝึกให้มีเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ หรืออุภโตภาควิมุติให้ได้จริง เรียกว่า พละกำลัง เราก็กระทำสั่งสมอย่างนี้ เรียนรู้ด้วยเหตุปัจจัย อย่างหยาบอย่างต่ำ วิมุติให้ได้ รู้ให้เท่าทัน อย่างกลางมาก็ให้เท่าทัน เหตุปัจจัยต่างๆ วิมุติ ให้ได้รู้เท่าทันให้ได้ จนกระทั่ง เราสัมผัสกลับคืนมันก็ได้ แต่อย่างอบายมุข ไม่จำเป็นต้องไปคลุกคลีมันเลย ส่วนรูป-รส-กลิ่น-เสียง-สัมผัส ยังคลุกคลีมันอยู่ แตะต้องมันอยู่ แต่เราอยู่เหนือมันจริงๆ โกหกตัวเองไม่ดี โกหกตัวเองไม่ได้ อย่าประมาท ลาภ-ยศ-สรรเสริญ เราก็แตะต้องมันได้ แต่เราอยู่เหนือมัน อัตตาตัวตน หรือปรมาตมัน หรือความหลงใหลในจิตต่างๆ มีเศษเสี้ยวอยู่ แม้แต่หลงตัวเอง หลงตนเองดี หลงดีขนาดที่หลงเป็นมานะก็ตาม ต้องรู้เท่าทันอีกแหละ ก็ไม่ให้มี ไม่ให้ตีซ้อนกลับไปเป็นกิเลสอีก มันเบาสบาย และเราก็อยู่ได้โดยธรรม อยู่ได้โดยมีประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน อันบริบูรณ์ตลอดเวลา
ต้องพยายามทบทวนและปฏิบัติ ให้เห็นเหตุเห็นผล เห็นส่วนได้ส่วนดี ต้องพยายามบังคับใจมากอยู่ มันจึงได้ ต้องเอาจริง แล้วรู้ผลให้ชัดเจน แล้วเราก็เป็นอยู่สบาย งานอะไรเราก็ทำเต็มฝืนเต็มกลั้น หรือว่าเต็มทน ที่เราทำได้นั่นแหละ ได้สูงสุด และก็เป็นผู้มีทั้งงาน เป็นผู้มีทั้งพักอยู่ในงาน.
*****