ธรรมปัจจเวกขณ์ (73)
17 พฤศจิกายน 2519 ณ พุทธสถานสันติอโศก
เราชื่อว่านักปฏิบัติ เราต้องเป็นผู้ที่มีพฤติกรรมของ ความเป็นนักปฏิบัติ ให้สำรวมโดยหลักการของจรณะ ๑๕ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือว่าจะเอาหลักเกณฑ์ โดยหลักเกณฑ์อื่นๆใดๆก็ได้ ที่เอามาใช้แล้ว จะต้องรู้สาระ รู้องค์แห่งธรรมว่าองค์คำสอน หรือว่าความหมายนั้น ให้เราทำอย่างไร ประกอบอย่างไร เราทำขึ้นมาอย่างไร ให้มันเกิดผลรู้ปรับปรุงกาย ให้กายกรรมมันสุจริตก็ยังดี ปรับปรุงวจีให้มันสุจริตก็ยังดี ปรับปรุงมโน โดยเฉพาะให้ถึงมโน เพราะมโนเป็นตัวรู้เป็นตัวสั่ง ถ้ามโนของเรา ไม่รู้แจ้งเห็นจริง แยกไม่ออกว่าอย่างใด ที่เราควรจะเลือกเอา อันนี้เป็นกุศล อันนี้เป็นอกุศล อย่างนี้ควรทำ อย่างนี้ไม่ควรทำ ควรให้เป็นอย่างนี้ หรือว่าไม่ควรให้เป็น ไม่ควรให้เป็นเราจะระงับด้วยวิธีใด มีอุบายล่อยังไงหลอกยังไง หรือว่ามีอุบายอะไรที่จะกดข่ม หรือว่ามีอุบายอะไรที่จะทำให้เราเลิก ละ หยุดทำอย่างนั้น หยุดเป็นอย่างนั้น หยุดคิดอย่างนั้น ปล่อยคลายอย่างนั้นได้ นี่เป็นสำคัญ ที่เราจะต้องรู้ให้ชัดเจน
เมื่อเราเป็นนักปฏิบัติธรรมแล้ว แม้กายก็เห็นได้อยู่ ว่ากายกรรม ได้สำรวมได้ระวัง มีสำรวมมีศีล อยู่ตามศีลตามกฎระเบียบ ตามข้อทฤษฎีที่เราได้ตั้งขึ้น เห็นได้ชัด กายก็บริสุทธิ์ วจีก็งามไปเรื่อยๆ ถูกขัดเกลาไปเรื่อยๆ ใจเราก็จับจิตจับใจของเราได้ เราก็เป็นนักปฏิบัติที่ถึงจิต ถึงปรมัตถ์ ถ้าแม้แต่จิตก็ยังไม่ถึง ได้แต่กายได้แต่วจี ไปควบคุม ไปตามหลักของศีล ควบคุมไปตามหลักของทฤษฎี ที่เรากระทำเท่านั้น เกิดความเคยชิน ก็ง่ายก็ดายเป็นไปเหมือนกัน ก็เป็นผลส่งเสริม เป็นแบบสมถะ หรือเป็นแบบศรัทธาจริต ส่วนเราจะต้องรู้ละเอียดซึ้งสุดนั้น แม้เราจะทำได้แล้ว เราก็ต้องรู้ว่าเราได้ เราจะต้องรู้ในผลของจิต ว่ามันวิมุติ มันเบา มันว่าง มันง่าย มีความเข้าใจหยั่งถึงว่า เป็นความปล่อยวางได้นั้น เป็นลักษณะอย่างไร ได้ผลดีที่ว่า ดีพ้นทุกข์พ้นร้อน พ้นลำบากลำบนอย่างไร ต้องอ่านถึงชัดถึงจิต เราจึงจะเกิดปัญญา และปัญญานั้นมันรู้นั้นแล้ว มันก็จะรู้จักผลด้วยเหตุด้วยผลอีก ว่ามันเลิกมันหน่าย มันคลายมาอะไร แล้วมาได้จริงๆ และมันดีกว่าที่ไม่เลิก และสุดท้ายย้อนคืนอีก เมื่อเลิกมาได้แล้ว แล้วเราก็ต้องอนุโลม หรือว่าไปทำงานอย่างนั้นๆ กับคนอื่น เพื่อผลที่จะให้เขาอาศัย เป็นขั้นตอน เป็นฐาน เราก็จะรู้ขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้น เราเป็นอยู่ทุกวันนี้ เราจะต้องรู้พฤติการณ์ รู้กายกรรม วจีกรรม และควบคุมไว้จนถึงมโนกรรม ให้ถึงจิตในจิต แม้งามแต่เพียงตามศีล ศีลสำรอกหรือว่า ศีลมันฟอกให้กายให้วจี มันบริสุทธิ์ก็จริง ถ้าถึงจิตที่จิต รู้แล้วจริงแล้ว มันจะบริสุทธิ์กายบริสุทธิ์วจีด้วยปัญญา ปัญญาก็บอก ปัญญาก็เข้าใจได้ว่า เราทำนั้นไม่ใช่สักแต่ว่าตามศีล ให้มันตรงศีลไปเฉยๆ ไม่ใช่ แต่เรารู้ผลดี เรารู้สิ่งที่ได้มาได้กำไร หรือว่าพ้นทุกข์ หรือว่าเบาง่าย หรือเป็นส่วนที่ดีกว่า อย่างชัดเจนด้วย เราจึงแน่ใจ เราจึงจะเห็นของจริง เราก็จะทำได้ ส่งเสริมในส่วนที่เรายังไม่ได้ ในส่วนที่เรายังลำบากอยู่ เราก็จะเต็มใจมีศีล หรือยกอธิศีลขึ้นไปอีก อธิศีลนั้นก็จะสำรอกจิต จะฟอกให้จิตเป็นอธิจิต และเราจะรู้ด้วยปัญญา เพราะเราเห็นในวิมุติ เกิดญาณทัสสนะวิเศษ เข้าใจในความจริง ว่ามันสูงจริง มันประเสริฐจริง และเราก็จะได้ประโยชน์จริง
ประโยชน์นี้ ย้อนคืนไปให้ผู้อื่นอีก เป็นประโยชน์ท่านในตัวนั้นจริงด้วย นี่เป็นผลหรือการกระทำ ที่เราจะต้องพยายามสอดส่อง พยายามระลึกรู้ให้มีจาระ หรือให้มีจริยะ ให้มีเป็นกิจวัตร เป็นประจำในส่วนที่ดีแล้ว ก็มีอยู่เป็นประจำ จริยวัตรรู้เป็นสติสัมปชัญญะที่จะยืดหยุ่น หรือว่าเราจะอนุโลมไปตามขั้นตอน ก็ต้องเป็นไป นั่นเป็นเรื่องของตัวปัญญา ส่วนวิธีวัตรก็เป็นปัญญา ปัญญาที่จะรู้วิธีอย่างนั้น วิธีอย่างนี้ ให้แก่ผู้อื่น เราอาจจะไม่ใช้วิธีนี้ แต่เรารู้แล้วว่า วิธีนี้เข้าใจด้วยเหตุผลเลยว่า มันจะเป็นประโยชน์จริง เราก็ประกอบวิธีนั้นขึ้น จึงเรียกว่าพิธีหรือประเพณี หรือเรียกเต็มๆว่า พิธีการ อะไรอย่างนี้ แล้วเราก็ให้เกิดวิธีวัตรขึ้นมา มีการประพฤติที่เป็นพิธีการ หรือว่าพิธีกรรมขึ้นมาบ้าง แต่อย่ามาก อย่าพยายามให้มีก่อน ถ้าไม่มีได้ ไม่ต้องติดยึดในพิธีการอะไรได้ เกิดปัญญาเข้าใจและก็หลุดวางได้เลย โดยไม่เกิดพิธีนั่น เรียกว่าดีกว่า แต่ก็จำเป็นที่จะต้องมีวิธี วิธีคือหลักเกณฑ์ ในการที่จะให้กระทำตามขั้น เพื่อเป็นการส่งเสริม เพื่อรัดรอบคนที่ไม่เข้าใจ ให้มีทั้งแบบอย่างหยาบ ทางกายทางวจี มีองค์ประกอบ มีข้าวของไปเป็นสื่อ มีเครื่องที่เป็นสื่อต่างๆนานา มันยุ่งยากมากขึ้น และมันก็หยาบมากขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้ายังไม่ทำได้ มันก็ดีก่อน แต่ถ้าเผื่อว่าจำเป็น ในโอกาสต่อไป มันไม่รู้กันจริงๆ มันไม่อนุโลม ไม่ได้ต้องอนุโลมลงไปอีก ก็ให้รู้กาละ รู้หมู่ชน รู้ฐานะ ถ้าเราจำเป็นเราก็ต้องทำ ถ้าไม่จำเป็นแล้ว ก็ละเว้นกันก่อน หรือว่ามีงานพอส่วนที่จะต้องทำ มีพอเพียงแล้ว เราจะต้องทำอยู่เยอะแยะ ส่วนนี้ไม่จำเป็นจะอนุโลมขึ้นไปหรอก เราก็ไม่ทำ นี่เราจะต้องเข้าใจถึงสิ่งที่จะเกิด สิ่งที่จะอนุโลม สิ่งที่จะมีองค์ประกอบ หรือมีสิ่งแวดล้อมต่างๆ พวกนี้ด้วย แล้วก็ค่อยทำ โดยเฉพาะตัวเราเอง จะต้องรู้ให้เท่าทันถึงกาย วจี มโน โดยเฉพาะมโนให้ชัดเจน แล้วก็ปรับเปลี่ยนมันไปสุจริตเสีย ให้มันสุจริตหมดทั้งทวารทั้งสาม โดยเฉพาะรายละเอียดลงไป จนรู้ในนิวรณ์ทั้งห้า เราก็จะพ้นอวิชชาได้.
*****