ธรรมปัจจเวกขณ์ (75)
29 พฤศจิกายน 2519 ณ พุทธสถานสันติอโศก
เราเรียนรู้โลก เรียนรู้โดยสมมุติไปพลางๆ เมื่อเราเองเราตั้งมั่นแล้ว เราอยู่กับโลก หรือว่ารู้เท่าทันโลก เราสามารถจะหยิบโลกนั้นมาอยู่ที่จิต หรือจิตของเราสัมผัสโลกอยู่ เราก็ไม่ตกเป็นทาสโลก เพราะฉะนั้น เราก็วิเคราะห์โลกได้อย่างละเอียดลออ เราจะรู้มุมเหลี่ยมที่เราไม่ได้รู้ เราจะเกิดสัพพัญญุตญาณ หรือเกิดโพธิญาณ หรือเกิดการรู้ซึ้ง เข้าใจชัดลึก เมื่อเราได้วางได้ปล่อยมันได้บ้างแล้ว กำลังของโลกไม่สามารถที่จะล้มล้างเรา ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนจิตเราได้แล้ว เราก็สามารถที่จะเอาเขา เข้ามาวิเคราะห์ เอาเขาเข้ามานึกมาคิด มาเรียนรู้มาสัมผัสสัมพันธ์ขึ้นไปได้ การที่ได้รู้รายละเอียดของโลกเพิ่ม ก็เป็นประโยชน์ ที่เราจะได้สร้างศาสนา เกื้อกูลศาสนา เพราะว่าคนในโลกมีมุมแง่ มีรายละเอียดเยอะแยะ ซึ่งเราไม่ได้ผ่านไปทั้งหมดหรอก แม้เราไม่ได้ผ่านไปทั้งหมด ก็เป็นความรู้ ความรู้เหล่านั้น มันจะเข้าใจชัดลึกเข้าไปจริงๆ มีเหตุปัจจัย มีสิ่งเกี่ยวข้องเกี่ยวพันสืบต่อ เราก็จะได้สามารถรู้สมุทัย หรือรู้เหตุแล้วก็จะสามารถช่วยผู้อื่นได้ เพราะเราเข้าใจแง่มุม อันลึกอันละเอียด ส่วนผู้ใดที่ยังไม่ได้ ยังไม่ถึงการหลุดพ้น จิตยังไม่ตั้งมั่น ก็อย่าไปเอาโลกเข้ามาพูด หรือไปเกี่ยวพันกับมันมากก่อน เราต้องพยายามทำจิตของเรา แยกแยะจิตนั่นไม่ใช่แยกโลก แยกแยะจิตของเราให้สำคัญ พยายามดูรายละเอียด ทำไมโลกนี้จึงมีอำนาจ ทำให้เราอยู่ใต้อำนาจได้ เรายังเป็นทาสโลก เป็นทาสโลกียารมณ์ต่างๆ ที่จะเป็นโลกอย่างไร ในแง่มุมใด ที่เราได้แบ่งแยกเอาไว้ มีเหตุปัจจัยในมุมอย่างไร เราก็ได้รู้กันอยู่แล้ว ก็ต้องพยายามวิเคราะห์อ่านแทงจิตของเราที่ยังโง่ ยังไม่สามารถที่จะสลัดปล่อย ยังเป็นทาสมันอยู่แม้น้อย
ยิ่งแม้มากๆ ก็ยิ่งต้องเอาใจใส่ ต้องพยายามดับ ต้องพยายามลด พยายามที่จะให้มันหาย ให้มันจางคลาย ให้มันลดลงๆๆ ได้จริงๆ อันใดที่มันอยู่ประจำกับเรามาก แล้วก็เห็นมันชัดๆ ว่าอย่างนี้แล้วยังมีอารมณ์ก็แรง มีการพ่ายแพ้อย่างเด่นชัด แล้วแต่เขาจะทำลายเราลงไป ให้เราเกิดการไม่เจริญด้วยอันอื่นด้วย อันนั้นเราเรียกว่าสักกายะของเรา เราต้องพยายามตั้งใจกับมันให้มาก หาแง่มุมวิเคราะห์มันให้มาก ใช้ศีลใช้พรตกำราบมันให้มาก ทำให้จริงให้แรง แล้วก็พิจารณาด้วยปัญญา อยู่กับมันบ่อยๆ เสมอๆ ในเรื่องที่เราเองก็รู้ว่า อันนี้หละ กำลังเป็นฐานที่เราคิด หรือเป็นฐานที่มันกำลังเล่นงานกับเรามาก เราจะต้องรู้ตัวเป็นสักกายะ อย่างนี้เสมอ จึงจะเรียกว่า โสตะหรือโสดาบันบุคคล แล้วเราก็กำลังกระทำ เราก็เรียกว่า สกทาคามี ทำลงสำเร็จก็เรียกว่าจบ จะเรียกอรหันต์ หรือจะเรียกอนาคามี ก็อยู่ด้วยกัน ถ้าอรหันต์หมด ก็หมายความว่าจบแล้ว เราก็ไม่หลง จบแล้วเราก็อยู่กับมันได้เลย แล้วก็เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น นั่นเรียกว่า จบอย่างอรหันต์ ถ้าจบแค่ดับลงไปได้ หยุดลงไปได้ ก็เป็นอนาคามีจิต ไม่เกิดการหลอกเราเท่านั้นเอง เราก็ดับสนิทไป แต่เราจะช่วยประโยชน์คนอื่นมันไม่ได้ มันไม่มีประโยชน์ท่าน มันมีแต่ประโยชน์ตน เพราะฉะนั้น ต้องรู้จุดสำคัญ จะต้องเอาให้เป็นอรหันต์ให้ได้ สกทาคามี ผ่านขึ้นไปเป็นอนาคามี ก็เป็นอรหันต์เลย เมื่อผู้นั้นมีปัญญา รู้ทิศทางของพุทธที่ถูกต้อง เป็นสัมมาทิฏฐิ ซึ่งไม่มีปัญหา อธิบายแล้วก็เข้าใจได้ทันทีว่า มันผ่านไปเลย วางแล้ว แล้วเราก็กลับไม่วาง ได้แล้ว แล้วเราก็กลับไม่มี หรือมีแล้ว แล้วเราก็กลับไม่มี ไม่มีแล้ว แล้วเราก็กลับมีเสียอีก อย่างนี้เป็นต้น มันก็เป็นสภาพปฏินิสสัคคานุปัสสี เป็นสภาพสลัดคืน เป็นสภาพเป็นไปได้แท้ เมื่อไม่มีแล้ว เราก็มีได้ มันก็จบกันอยู่อย่างนั้น ก็ขอให้พยายามตรวจตน ให้รู้สักกายะที่แท้จริง แล้วก็กระทำจริงสูงขึ้นๆ ก็เป็นประโยชน์ตนที่แท้ จะได้เป็นประโยชน์ผู้อื่น อย่างจริงต่อไป.
*****