ธรรมปัจจเวกขณ์ (80)
22 ธันวาคม 2519 ณ พุทธสถานสันติอโศก
อย่าเผลอไผล ในขณะที่เรามีชีวิตอยู่ แม้เราเอง เราจะเป็นถึงอรหันต์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ได้เตือนเราไว้อยู่ ลาภก็ดี ยศก็ดี สรรเสริญเสียงเยินยอก็ดี ยังสามารถทำให้ พระอรหันต์หวั่นไหวได้ หรือเป็นอันตรายต่อทิฏฐธรรมสุขวิหาร ของพระอรหันต์ได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น การประมาทนั้น ไม่สมควรที่จะประมาทเป็นอย่างยิ่ง เราจึงจะต้องคอยมีสติสัมปชัญญะให้แข็งแรง อย่าให้เกิดเชื้อในการที่ได้รับการกระทบอันตราย เราก็ต้องมีสติสัมปชัญญะ มีบทบาทในการกระทำจิต ให้มันเป็นวิมุติๆ เจโตวิมุติ อันไม่กลับกำเริบแล้ว เป็นอรหันตผลที่เสร็จแล้ว เด็ดขาดแล้ว นี้ก็จริงอยู่ ไม่หวั่นไหว
แต่ในทิฏฐธรรมสุขวิหาร ในปัจจุบันทุกปัจจุบัน แม้ว่าเราอยู่เป็นสุข แม้ว่าเราอยู่สบาย มีสภาวะของจิตเปิดเผย รับรู้สิ่งที่เกินเหตุเกินปัจจัย สิ่งที่ขาดขั้นขาดตอน ที่มีอำนาจเหนือ บางครั้งบางคราว ชั่วแวบชั่วคราวอะไร มันก็สามารถกระทำให้จิตนั้น บกพร่องได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น เราก็ต้องระมัดระวัง หรือยิ่งเราไม่ถึงขั้นอรหันต์ เราก็ต้องพยายามตรวจ อย่าเผลอใจ-อย่าห่างใจ ทำงานด้วยการสอบทาน เป็นการตรวจทาน เป็นการพิสูจน์ และเป็นการปฏิบัติธรรมขั้นละเอียด เป็นการปฏิบัติธรรมขั้นปัจจุบันธรรม มีทิฏฐธรรม ถ้าเรามีสุขวิหารอยู่ด้วยในทิฏฐธรรมนั้น เราก็เป็นผู้ได้กำไรอยู่เสมอ เราจะต้องรู้ความสงบ ความระงับ ความวิมุติ อยู่ในทุกๆทิฏฐธรรม ทุกๆปัจจุบันธรรม มีความแจ้ง มีความชัดเจน
อย่าเผลอใจ-อย่าห่างใจ เป็นอันขาด อันไหนควรปรับปรุง ปรับปรุงทันทีทันใด อย่าให้ช้า อย่าให้รอ อย่าประมาท เพราะฉะนั้น แม้แต่การสำรวมออกมาถึงข้างนอก ขั้นวจีก็ดี ขั้นกายก็ดี อย่าเผลอไผล ใจของเราได้ระมัดระวัง ได้พยายามสำรวม ได้พยายามฝึกหัดปลดปล่อย เป็นไปด้วยดี รู้แล้วความสบาย แม้งานการ หนักรู้หนัก เหนื่อยรู้เหนื่อย เหนื่อยก็เหนื่อย ถ้าเหมาะควรอยู่เห็นว่าเป็นกุศล เราก็ยังกุศลให้ถึงพร้อมไปตลอดเวลา เกินขอบเขตแล้ว สุขภาพร่างกายก็แย่ จะเปลี้ยจะเพลียก็พัก ก็บอกกันกล่าวกัน ก็เป็นไปตามขั้นตอน เป็นไปตามความเป็นจริง ก็จะอดทนได้มาก เหนื่อยก็ทนเหนื่อยได้นาน ก็เป็นอิทธิวิธี เป็นความเป็นจริงของผู้นั้นทำได้ จิตใจก็ปลอดโปร่งอยู่ รู้ความจริงอยู่ งานการก็มาก ค่าก็เยอะเป็นค่าของคน เพราะว่าค่าของคนนั้น อยู่ที่การงาน ส่วนวิมุตินั้น เราก็มีอยู่ เราก็ได้อยู่ แม้จะไม่ใช่วิมุติจนกระทั่ง หยุดนิ่งเฉยๆ หรือว่าสบายจนเกินขอบเขต หยุดนิ่งเฉยเท่าไร ก็สบายมากเท่านั้นแหละ แต่ถ้าเผื่อว่าหยุดนิ่งพอสมควร วางปล่อยได้แล้ว พอสมควรแล้ว มันก็เป็นทิฏฐธรรมสุขวิหารแล้ว เราก็จะต้องเข้าใจสภาพของ ทิฏฐธรรมสุขวิหาร ให้แท้ด้วย
ฉะนั้น แม้ที่สุดด้านใจ เรามีอย่างนั้น ก็จะต้องเจียน หรือว่าพยายามปรับปรุง กายกรรม วจีกรรม ให้มีความงามพร้อม ให้เป็นสมบัติผู้ดี มีเสขิยวัตร มีอะไรต่ออะไร ที่เป็นสำรวมระวัง ทุกรูปแบบ เป็นไปด้วยดี เป็นไปด้วยความสงบระงับ จนกายก็วิเวก – วจีก็วิเวกตาม เป็นพฤติกรรมอันเอกทั้งวจี และพฤติกรรมอันเอกทั้งกายกรรม เราจะต้องอย่าเผลอ ระวัง ! รู้สึกว่าเราคลุกคลีมากขึ้น การงานมากขึ้น แล้ว เราเผลอไผลกายกรรม เผลอไผลวจีกรรม ได้เหมือนกัน ตอนนี้ก็ขอเตือน ขอติงไว้ พยายามระลึกรู้ ต้องพยายามปรับปรุงเปลี่ยนไป จะต้องระวังตนเองด้วย เคร่งเกินไป ระวังนะจะลำบาก ก็ต้องดูอนุโลมปฏิโลมให้สำคัญ ไม่เช่นนั้น เคร่งไปจัดไป ก็จะเกิดการท้อแท้ อึดอัดขัดเคือง เป็นอัจจารัทธะวิริยะ เป็นการเพียรจัดไป ก็ต้องให้ระวัง มันจะเป็นอุปกิเลสดีซ้อน หย่อนไปไม่ดี เพียรจัดไปก็ไม่ดี ดังที่เราได้ศึกษา ได้รู้กันอยู่แล้ว ต้องพยายามอ่านใจ อ่านตัวเองนั่นแหละ ใจนี่แหละสำคัญที่สุด และก็ปรับปรุงกัน ให้พอเหมาะพอเจาะ เราก็จะสู่ที่สูง ดำเนินขึ้นไปเรื่อยๆๆๆๆๆ เรียกว่าผู้เจริญที่แท้จริง.
*****