มิติของชีวิต ใช่เพียงแค่แพ้หรือชนะ ถูกหรือผิด สำเร็จหรือล้มเหลว
“The many dimensions of life, Win or lose, Right or wrong, Success or failure, Do they really matter?”
กว่าจะเป็นเมล็ดข้าวขาวฟูอยู่บนจานให้ชาวเรา “เปิบ” หรือรับประทานกันได้นั้น ต้องผ่านขั้นตอนที่ชาวนาใช้ทั้งชีวิตจิตวิญญาณทุ่มเททำ
“ชาวอโศกต้องเป็นชาวนา” พ่อครูสมณะโพธิรักษ์ได้ให้โศลกเตือนใจแก่ชาวอโศกไว้ จะได้ไม่ลืมบุญคุณชาวนา
วันนี้วันบวร เช้าวันที่ 30 ก.ค. 2561 ทั้งเด็กและผู้ใหญ่บวร ราชธานีอโศก ประมาณ 30 คนมีกำหนดนัดหมายไปช่วยกันนวดข้าวที่อาคารบวร อันดับแรกต้องช่วยกันลำเลียงฟ่อนข้าว ไปกองเรียงกันเป็นแถว เพื่อให้รถนวดข้าวทำงานได้สะดวก
ลำพังแค่นำฟ่อนข้าวไปเรียงไม่ใช่งานที่ยากเย็นเลย กำลังคน 30 คนทำงานไม่ถึงชั่วโมงก็สำเร็จ แต่งานที่ยากและกำหนดไม่ได้คือ รถนวดข้าวที่นัดไว้ไม่มาตามนัด เหตุเพราะว่าญาติเข้าของรถเสียชีวิต ก็เลยต้องจัดงานศพ เป็นเรื่องเหนือความคาดหมาย คนจะตาย พระจะสึก คนจะคลอด มันห้ามได้ยาก คนโบราณว่าไว้
เอาล่ะ แม้ว่ารถนวดข้าวที่จ้างไว้ไม่มา แต่ก็ยังมีทางเลือกคือรถนวดข้าว “ROYTER 4×4” ของศิษย์เก่าสัมมาสิกขานักประดิษฐ์ รถเกี่ยวข้าวนวดข้าวเสร็จในคันเดียว ซึ่งยังไม่เคยทดลองใช้เลย คราวนี้ ได้เวลาทดลองใช้แล้ว เป็นรถประกอบเองกับมือ … แต่ทว่าแม้จะตั้งใจดี ทำออกมาให้ดีที่สุดแล้ว…แต่ว่าเมื่อทดลองนวดข้าวจริง กลับไม่สามารถนวดข้าวออกมาได้ ติดขัดหลายอย่าง ไม่ง่ายเลย แต่ว่าศิษย์เก่าเราก็ยังไม่ท้อ ขอนำไปปรับปรุงต่อ คราวนี้ฝากไว้ก่อนเถอะโอฬาร
“I have not failed. I’ve just found 10,000 ways that won’t work.”
โทมัส อัลวา เอดิสัน ผู้ประดิษฐ์หลอดไฟ “เอดิสัน ถูกหาว่าเป็นเด็กปัญญาอ่อน” หลังจากตรวจดูศีรษะของเอดิสันแล้ว หมอบอกกับครูว่า “ศีรษะของเด็กคนนี้เบี้ยวผิดปรกติ เซลล์สมองก็คงผิดปรกติด้วย” ครูนำผลการตรวจของหมอไปแจ้งให้พ่อแม่ของเอดิสันทราบ แต่แม่ของท่านไม่เชื่อว่า เอดิสันเป็นเด็กปัญญาอ่อน จึงนำท่านออกจากโรงเรียนมาสอนเองที่บ้าน หลังจากเข้าเรียนในโรงเรียนได้เพียง ๓ เดือนเท่านั้น
ได้ทำลองอย่างทรหด ครั้งหนึ่ง เมื่อผู้ช่วยของเอดิสันกล่าวกับเขาว่า
“เราทำการทดลองมา 700 ครั้งแล้ว
แต่เรายังไม่มีคำตอบ เราล้มเหลวเสียแล้ว”
แต่เอดิสันกลับตอบว่า
“เปล่าหรอก เรายังไม่ล้มเหลว
เรารู้มากกว่าใครๆ ในโลกในเรื่องนี้
และเรายังรู้อีกว่ามี 700 วิธีที่ไม่ควรทำ
อย่าเรียกว่า ความผิดพลาด
แต่ให้เรียกว่า เป็นการเรียนรู้”
โทมัส เอดิสัน นักประดิษฐ์ผู้ไม่เคยยอมแพ้ มี นักข่าวคนหนึ่งเคยถามเอดิสันว่า กว่าที่จะสามารถผลิตหลอดไฟได้ ต้องใช้ความพยายามลองผิดลองถูกกว่า 700 ครั้ง คุณไม่รู้สึกท้อและล้มเหลวบ้างหรือครับ
เอดิสันกล่าวว่า ไม่ครับ ผมไม่รู้สึกท้อแท้และล้มเหลว เพราะผมได้เรียนรู้แล้วว่า การทดลองกว่า700ครั้งนั้นผิดพลาดเพราะอะไร และก็รู้ว่ามี700วิธีที่ไม่ใช่ ผมก็แค่หาวิธีผลิตหลอดไฟต่อจากนั้นเองครับ
เอดิสันล้มเหลวกว่า 1,000 ครั้ง เขาก็ยังลุกขึ้นสู่ต่อโดยไม่ยอมแพ้ และยังได้เรียนรู้จากความผิดพลาดความ สำเร็จที่ยิ่งใหญ่ไม่ได้เกิดขึ้นในชั้วข้ามคืนนะ
หลังจากนั้น เขาถูกนักข่าวรุมถามเสมอว่า เอดิสันคิดอย่างไรกับการที่คนทั่วไปเรียกเขาว่าอัจฉริยะ เขาตอบว่า คำว่าอัจฉริยะในความคิดของผม ประกอบด้วยพรสวรรค์เพียง 1% ส่วนอีก 99% มาจากความพยายาม
“ความล้มเหลวหลายๆ อย่างในชีวิต เป็นเพราะคนเราไม่ตระหนักว่า
พวกเขาอยู่ใกล้ความสำเร็จแค่ไหน ตอนที่เขายอมแพ้”
โทมัส แอลวาเอดิสัน
หากว่าเอดิสันท้อใจในการทดลองที่ล้มเหลวกว่าพันครั้ง เราคงไม่ได้มีหลอดไฟให้ความสว่างแก่โลกเป็นแน่แท้
ถ้าหากพระพุทธเจ้าท่านท้อใจจากการบำเพ็ญทุกรกิริยาจนเกือบจะสิ้นชีวิต แล้วไม่ทำการทดลองต่อ เราคงจะไม่ได้มีแสงสว่างของชีวิตที่ส่งผ่าน ศาสนาพุทธของพระสมณโคดม มาให้เราได้เป็นที่พึ่งแก่ชีวิตเป็นแน่แท้
หากว่าพ่อครูท้อใจกับการที่ถูกมหาเถรสมาคมกลั่นแกล้ง และไม่สร้างหมู่กลุ่มต่อ ชีวิตของชาวอโศกคงไม่ดำเนินมาได้จนถึงทุกวันนี้
แต่ว่าเพราะท่านเหล่านั้น ไม่มีเวลาที่จะท้อแท้ เพราะมีแต่จิตใจของพระโพธิสัตว์ที่มุ่งมั่นทำประโยชน์ต่อโลก ทำให้ท่านค้นพบแสงสว่างที่จะส่องนำชีวิตสรรพสัตว์ให้ออกจากทางอันมืดมิดได้
แม้ว่าวันนี้รถ ROYTER 4×4 จะไม่ประสพผลสำเร็จ แต่ว่า เรายังมีสองมือที่มีเรี่ยวแรงกันทุกคน พวกผู้ใหญ่ที่ไปช่วยนวดข้าวในวันนี้หลายคนก็เป็นลูกชาวนา มีประสพการณ์ทำนาด้วยมือกันทุกคนโดยไม่ต้องพึ่งพาเครื่องจักร จึงได้ตกลงกันว่าจะทำการนวดข้าวด้วยมือแบบโบราณกัน ไปหาอุปกรณ์คือไม้นวดข้าว นำไม้ไผ่มาตัดเป็นท่อนยาวสักฟุตครึ่ง สองอัน แล้วใช้เชือกผูกปลายไม้ให้ห่างกันสัก 1 คืบ แต่ว่าต้องมีเทคนิคผูกเชือกให้เหลือปลายไม้ไว้กดฟ่อนข้าว 1 ข้าง ไม้อีกข้างหนึ่งไม่ต้องเหลือปลายไว้ เวลานำไปรัดฟ่อนข้าวจะได้รัดได้ เป็นภูมิปัญญาไทยที่ถูกพัฒนามาหลายร้อยปี
เด็กๆผู้ชายก็เลยได้เรียนรู้วิธีการทำไม้นวดข้าวกัน พ่อใหญ่หลายคนมีประสพการณ์การนวดข้าว ก็ได้เล่าประสพการณ์ ว่า เวลาเกี่ยวข้าวเสร็จ ก็นำข้าวไปตากให้แห้ง ซึ่งสัก 3 วันข้าวก็แห้งแล้ว จากนั้นก็ทำลานนวดข้าวกัน โดยนำขี้วัวขี้ควาย มาฉาบทาบนผิวลานนวดข้าว ซึ่งก็อยู่บนผืนนานั่นเอง ลานที่ได้ก็จะเรียบสวย พร้อมนวดข้าว
จากนั้น ก็นำไม้นวดข้าวมัดฟ่อนข้าวที่ถูกผูกด้วยตอกไว้อย่างแน่นหนา ด้วยวิธีการพิเศษที่บรรยายได้ยากต้องมีผู้รู้เคยทำเป็นทำให้ดูกับตา จากนั้นก็เป็นการออกกำลังกายนวดข้าว ฟาดข้าวลงบนพื้นลาน หรือพื้นไม้ที่นำมาวางไว้เป็นแท่นก็ได้ เมล็ดข้าวก็จะถูกตีออกมาจากรวงข้าว กองบนพื้นรวมกัน หากเข้าแถวเรียงกันนวด นับจังหวะนวดพร้อมกัน ก็จะเป็นที่สนุกสนานไปในตัว ได้ข้าวมาก็กองรวมกันเป็นลอมข้าว ในบางแห่งก็มีการจัดงานบุญลอมข้าวไปด้วยเลย
ท้อไม่แท้ แท้ไม่ท้อ ชาวอโศกคือผู้ไม่โศก วันนี้เด็กๆและผู้ใหญ่ ก็ได้เรียนรู้อีกขั้นตอนของการทำนา คือการนวดข้าวด้วยมือ ซึ่งคงจะหาคนรู้และทำเป็นได้น้อยลงเรื่อยๆ เพราะกลไกเครื่องจักรเข้ามาแทนที่คนมากขึ้นๆ ภูมิปัญญาไทยในวันนี้จึงถดถอยลงไปมาก แต่วันนี้เราได้ส่งผ่านภูมิปัญญาไทย ให้แก่ลูกหลานชาวอโศกได้อีกครั้งหนึ่ง
ควรที่พวกเราชาวไทยจะภาคภูมิใจในความเป็นไทย ที่ไม่ได้งอมืองอเท้าที่ต้องพึ่งพาแต่เครื่องจักรกลสมัยใหม่ แต่มีสมองและสองมือที่มีสมรรถภาพอย่างคนจนมหัศจรรย์ คนจนที่มีวรรณะ 9 เลี้ยงง่าย (สุภระ) บำรุงง่าย, ปรับให้เจริญได้ง่าย (สุโปสะ) มักน้อย, กล้าจน (อัปปิจฉะ) ใจพอ สันโดษ (สันตุฏฐิ) ขัดเกลากิเลส (สัลเลขะ) เพ่งทำลายกิเลส มีศีลสูงอยู่ปกติ (ธูตะ, ธุดงค์) มีอาการน่าเลื่อมใส (ปาสาทิกะ) ไม่สะสม ไม่กักเก็บออม (อปจยะ) ตรงข้าม อวรรณะ9 ขยันเสมอ, ระดมความเพียร (วิริยารัมภะ)
วันนี้ไม่ประสพผลสำเร็จในการใช้เครื่องจักรกล แต่เราได้ประสพผลสำเร็จในการส่งผ่านภูมิปัญญาไทยให้ลูกหลานได้สำเร็จ มิติของชีวิตจึงไม่ใช่แค่เพียงถูกหรือผิด สำเร็จหรือล้มเหลว แต่อยู่ที่ใจเราจะไม่ได้ไปยึดติดไปสุขไปทุกข์กับสมมุติโลก ที่เป็นโลกธรรม ลาภ ยส สรรเสริญ สุข เป็นการแพ้การชนะ ความถูกความผิด ความสำเร็จหรือล้มเหลว แต่เราใช้สมมุติโลกให้เป็นประโยชน์สูง ประหยัดสุด เพื่อคนอื่น ไม่ใช่เพื่อตัวเราของเรา ผลสำเร็จ ก็จะเกิดขึ้นทุกขณะที่เราได้เสีย เพราะการเสียนั่นแหละคือเราได้ การขาดทุนของเราคือกำไรของเรา ดังที่ในหลวงของเราตรัสไว้ และดังโศลกธรรมของพ่อครูสมณะโพธิรักษ์ที่ว่า…ผู้ที่ยอมแพ้ได้นั่นแหละจะเป็นผู้ชนะรอบโลกที่แท้จริง…
?ตื่นรู้ตามโพธิ์
[embedyt] https://www.youtube.com/watch?v=EuJ6i1uAVBQ[/embedyt]