610902_วิถีอาริยธรรม บ้านราชฯ เศรษฐกิจสุดวิเศษแบบพุทธกับเพลงความซ้ำซาก
อ่านทั้งหมดที่ หรือดาวโหลดเอกสารที่… https://docs.google.com/document/d/1sAjrUMuYAVOp86pkZC89ZD-pWddNK_lLMo23RR1aLUo/edit?usp=sharing
ดาวโหลดเสียงที่.. https://drive.google.com/open?id=10UTAE_HNAdibiH2BnS8vHSbYEE6bAQpq
สมณะฟ้าไทว่า…วันนี้วันอาทิตย์ที่ 2 กันยายน 2561 ที่ บวร ราชธานีอโศก เศรษฐกิจทั่วไปเขาก็แข่งขันกันเต็มที่ CP ทุ่มทุนจะสร้างsmart city CP วางแผนทุ่มงบหลายแสนล้านบาท สร้างโครงเมืองใหม่ (New City) แปดริ้ว ให้กลายเป็น Smart City โดยวางผังเมือง สาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกไว้ที่เดียวใจกลางเมืองอย่างครบครัน พร้อมหานักธุรกิจทั้ง ไทย และต่างประเทศ ร่วมลงทุน
นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า CP กับแผนการลงทุนครั้งใหญ่สร้างเมืองใหม่ แปดริ้ว จ.ฉะเชิงเทรา ใช้งบประมาณหลายแสนล้านบาท บนพื้นที่ 10,000 ไร่ ด้วยคอนเซปต์ “Smart City” โดยเหตุผลที่เลือก แปดริ้ว จ.ฉะเชิงเทรา เป็นแห่งแรก เพื่อเป็นการทดลองโครงการเชื่อมต่อกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
ซึ่ง แปดริ้ว อยู่ไม่ห่างจาก กทม. มากนัก โดยจะมีการวางผังเมือง และระบบสาธารณูปโภคอย่างครบถ้วน รวมถึงบริการอื่นๆ ของเมืองให้รวมอยู่ในจุดเดียว อาทิ โรงพยาบาล โรงเรียน มหาวิทยาลัย ศูนย์การค้า ไว้ใจกลางเมือง อีกทั้ง รถไฟฟ้าในระบบรางเชื่อมต่อเข้ามายังสถานีมักกะสัน โดยให้การเดินทางเข้าออกเมืองภายใน 20 นาที รถไฟจะออกทุก 1 หรือ 2 นาที ถนนในเมืองจะสร้างเป็น 3 ชั้น ชั้นบนสุดเป็นสวนสาธารณะ ชั้นกลางเป็นถนนและทางรถไฟ ชั้นล่างเป็นส่วนของการให้บริการ เช่น ขยะ ท่อน้ำเสีย ท่อระบบ ไฟฟ้า – ประปา นอกจากนี้ภายในเมืองจะใช้ระบบ ZERO WASTE หรือการรีไซเคิลขยะให้เป็นศูนย์ เช่น การรีไซเคิล การผลิตไฟฟ้า แปรรูป
แนวคิดของการสร้างเมืองใหม่ รถจะต้องไม่ติด หรือผู้คนสามารถเดินไปทำงานได้ จำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองจะต้องไม่ต่ำกว่า 300,000 คน เพื่อให้ธุรกิจ – บริการคุ้มทุน อีกทั้งเมืองยิ่งใหญ่ยิ่งดีถึงจะคุ้มค่าในการลงทุนสาธารณูปโภค
แต่ของเรามี smile city มีน้ำตกนกร้อง อยู่แบบคนจน พึ่งพาอาศัยกัน เป็นคนจนสุขสำราญเบิกบานใจ จะได้มีการเปรียบเทียบกันระหว่าง ทุนนิยมจ๋า กับบุญนิยมจ๋า ดูซิว่าอันไหนจะมีความสุขมากกว่ากัน เขาจะต้องเสียสตางค์เยอะแน่ แต่ของเราไม่มีเงินก็มาอยู่ได้ เศรษฐกิจที่พ่อครูนำพาเอาศาสตร์พระพุทธเจ้ามาทำ ทำให้อยู่แสนสบายไม่เดือดร้อนชีวิต มีระบบการคัดเลือกคนมาอยู่อย่างเป็นผู้ให้ ถ้าทำได้รัฐบาล ก็เอาโมเดลของเราไปทำได้เช่นกัน ดูว่ารัฐบาลจะเลือกโมเดลไหนกัน
พ่อครูว่า…SMS วันที่ 31 สค. 2561 (พ่อครู : พุทธศาสนาตามภูมิ)
_3867คำธรรมะสิกขมาตุกล้าข้ามฝันเทศน์สมญานามพาอาริยะชนก้าวข้ามความฝันละเมอเพ้อพกฯเข้าถึงสัจธรรมความเป็นจริงได้เหมือนพ่อครูสอนเป๊ะ!กบบ่ฉงน!
_แมนยู เลียม · ฟังพ่อท่านแบบตั้งใจฟังมีสติ ปัญญาเกิดในทางทีดีแน่นอนครับ
_บุญเลียบ · เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะว่าชาวอโศกบรรลุธรรมเป็นพระอาริยะมีทุกระดับชั้นโดยเฉพาะท่านสณ.ท่านสม.น่าเลื่อมใสเป็นอย่ามากฆราวาสก็ด้วยค่ะ
พ่อครูว่า…อาตมาก็รับรองนะพวกเราเป็นพระอาริยะเป็นคนประเสริฐตามทิศทางที่พาเป็นเป็นสมณะที่ 1 สมณะที่ 2 3 4 แต่ทางศาสนากระแสหลักเพี้ยนไปแล้ว เขาไม่รู้ว่าพระอาริยคืออย่างไร ไม่เข้าใจ เตลิดเปิดเปิง อาตมาก็ยืนหยัด ด้วยความจริงใจว่าเป็นไปตามพระพุทธเจ้าสอนได้ เขาจะว่าเราอย่างไรก็ได้ แต่ขอบอกความจริง
สื่อธรรมะพ่อครู(ปฏิจจสมุปบาท) ตอน เวทนาสอง เวทนาหนึ่ง เวทนาศูนย์ คืออะไร
_เวทนาสอง คือสุข ทุกข์คะ
เวทนาหนึ่ง สุขคะ
เวทนาศูนย์. อุเบกขาคะ
ตรงตามพ่อครูสอนมั้ยคะ สาธุคะ จาก… ปนิรัตน์
พ่อครูว่า…ท่านฟ้าไทให้คะแนนเท่าไหร่ (ส.ฟ้าไทว่าให้ 70%)
เวทนาสองคือ สุข ทุกข์ใช่แน่ ที่จริงถ้าเป็นปรมัตถ์เป็นโลกุตระนี่ เวทนาสองคือ 1.เวทนาแท้ กับ 2.เวทนาเก๊ ถ้าเวทนาหนึ่งก็จะเป็นสุขก็ได้หรือทุกข์ก็ได้ ส่วนเวทนา 0 นั้นคืออุเบกขาถูกต้อง
เวทนา2 คือ เวทนาแท้กับเวทนาเก๊เวทนาปลอมเวทนามิจฉาทิฏฐิ
ส่วนเวทนาหนึ่งนั้นจะรู้ว่าสุขก็ได้หรือทุกข์ก็ได้ 1 เพราะเวทนานี่ขณะที่มันเป็นสุขมันไม่เป็นทุกข์ ขณะทุกข์มันก็ไม่สุข ส่วนเวทนา 0 แน่นอนคืออุเบกขา จะเป็นอุเบกขาแบบเนกขัมมะหรือเคหสิตะก็คือ 0 เช่นกัน
แต่มีนัยสำคัญว่า 0 อย่างเคหสิตอุเบกขาเป็น 0 อย่างไม่มีปัญญา 0 อย่างทำได้แต่ไม่รู้ว่ามัน 0 นั้นถาวรหรือไม่ เหตุที่มัน 0 ก็เพราะว่าเราได้ดับเหตุหรือไม่ก็ไม่รู้ ส่วนเนกขัมมสิตอุเบกขานั้นคือ เรารู้ชัดเจนมัน 0 เพราะเราได้กำจัดเหตุออกไปได้จนเวทนาเป็น 0 แม้จะทำได้ชั่วคราวก็ตาม ก็รู้ว่าเราได้ทำเหตุนั้นออก แต่ยิ่งทำได้ลงตัวถูกต้องตั้งมั่นก็เป็นอุเบกขาถาวรยั่งยืน
การศึกษาธรรมะพระพุทธเจ้าให้ศึกษาที่เวทนานี่แหละ เพราะว่าความทุกข์ความสุขมันอยู่ที่เวทนา คือความรู้สึกหรือเวทนาหรือเรียกว่าอารมณ์ มันอยู่ที่นี่แหละทุกข์สุข
เพราะฉะนั้นหัวใจของศาสนาพุทธคือการดับทุกข์ แล้วทุกข์มันอยู่ที่ไหนล่ะ ก็อยู่ที่อารมณ์ที่ความรู้สึก เพราะฉะนั้นเรารู้อารมณ์นี้แล้วก็ตามหาเหตุ ค้นหาเหตุมันว่า เหตุอย่างไรที่มันทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกนี้ ตามแยกแยะ วิเคราะห์วิจัยอาการที่มันเกิดเป็นของจริง ในขณะที่เราจะทำงานปฏิบัติธรรม แต่ถ้าไม่มีของจริงยืนยันอยู่ขณะนี้ให้เราได้เรียนรู้ แล้วก็วิจัยของจริง เราก็วิจัยเปล่าๆลมๆแล้งๆ ไม่มีความรู้สึกสุขความรู้สึกทุกข์ มันไม่ได้อยู่ให้เราได้เห็น ให้เราได้มีความจริง แล้วก็หาเหตุที่มันเกิดจริงๆในขณะนั้นมันเป็นอย่างไร มันไม่ได้ปฏิบัติจริง อันนี้แหละที่อาตมาว่า ศาสนาพุทธน่าจะฉลาดตรงนี้
ผู้ปฏิบัติธรรมทุกวันนี้ไม่ได้คิดอย่างนี้แล้ว ทิ้งเลยไม่มีผัสสะไปนั่งหลับตาเข้าไป แล้วพยายามปฏิบัติให้มันนิ่งให้มันอยู่เฉยๆเป็นอุเบกขา วิธีหนึ่งคือตัดภพ ภพข้างนอก ตา หู จมูก ลิ้นกาย เข้าไปอยู่ในภพในก็ดับภพในอีกให้หยุดนิ่ง ไม่คิดไม่นึกดับความรู้สึกได้ก็ยิ่งดี ไปโน่นเลย เขาก็ได้อุเบกขาเหมือนกัน แต่มันไกลจากศาสนาพุทธ เพราะว่าศาสนาแบบนั้นใครๆก็รู้ได้ง่ายมันไม่ได้ยากอะไร เพราะศาสนาแบบนั้นใครก็รู้ได้ง่าย ใครก็รู้ใครก็เข้าใจไม่ยากอะไรมันเป็นของสามัญปกติ
แต่ของพระพุทธเจ้านั้นในขณะสัมผัสกับอย่างอื่นก็รู้อารมณ์ด้วย มันก็มีอารมณ์ 2 สุข หรือทุกข์ที่เก๊ มันเก๊ ตัวนี้แหละที่ว่าสุขหรือทุกข์มันก็ตัวเดียวกัน อุปาทานทำให้เกิดเท่านั้นเอง จริงแล้วมันมีแต่ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นที่ตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้นที่ดับไป แต่คุณไปไม่เข้าใจว่า ทุกข์นี่แหละคือตัวที่คุณต้องอยู่กับมันไปจนตาย
คุณต้องรู้เลยว่าไม่มีอะไรในโลกที่คุณต้องอยู่กับมัน นอกจากทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นที่ตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้นที่ดับไป แต่คุณต้องอยู่กับทุกข์อย่างรู้แจ้งรู้จริงว่า
ทุกข์คือความทนได้ยาก ทุกข์คือความมี ทุกข์คือความไม่เที่ยง มันเที่ยงที่ไหนล่ะ มันทุกเศษแห่งวินาที วินาทีมันเป็นเวลาระดับหนึ่งแต่นี่มันเร็วกว่าวินาที มันสั้นกว่าวินาทีอีก มันก็เกิดขึ้นอยู่ แต่มันสั้นกว่าวินาทีอีก เราก็อยู่กับมันอย่างไร จะอยู่กับมันอย่างรู้ทัน รู้เลยว่ามันเกิดขึ้น เราก็อยู่กับมัน เป็นภาระ มันทุกข์นี่เป็นภาระของมนุษยชาติของชีวิต
เราจะอยู่กับมันอย่างให้ภาระนี้มันบรรเทา บรรเทาทุกข์ให้มันอยู่ไปด้วยดีสบายๆ เพราะมันหนีไม่ออกหรอกทิ้งไม่ได้ ในร่างกายของเรานี่แหละเป็นตัวภาระทั้งสิ้นเลย หายใจเข้าหายใจออกก็ทุกข์ ที่จริง แต่เรารู้จักอนุโลม ปฏิโลม มันมีก็ให้อยู่กับมันมี หายใจเข้า หายใจออก หากมันขลุกขลักนิดหน่อยชักไม่ดี อาตมาเป็นไม่กี่วันนี้ หายใจเข้าหายใจออกชักจะขาดใจชักจะไม่ดีแล้วนี่ ไม่ไหว ๆๆ มีแต่บ่นอย่างนี้เลย หายใจเข้าไม่หายใจออกระยะหนึ่งถ้าไม่นานนัก ถ้านานเกินก็ตาย
สื่อธรรมะพ่อครู(สาราณียธรรม 6 พุทธพจน์ 7) ตอน วางใจในสาราณียธรรม
_การฝึกวางใจกับข้อบกพร่องผู้อื่น (วจีสังขารอาตมาว่า มันเสือก เขาคือเขา เราคือเรา คุณไปเสือกยุ่งกับเขาทำไม ข้อบกพร่องของเขาก็เป็นของเขาคุณไปยุ่งกับเขาทำไม คุณรู้ว่าเขาบกพร่อง คุณก็ฝึกวางใจ ทำให้มันวางซะ) แล้วย้อนกลับมาดูตัวเอง ใช้สาราณียธรรม 6
พ่อครูว่า…สาราณียธรรม 6 เป็นองค์รวมที่เป็นความลงตัวของผู้ปฏิบัติธรรม สังคมที่ปฏิบัติธรรม ลงตัวแล้ว มันจะได้ลักษณะ 6 นี้
-
เข้าไปตั้งกายกรรมประกอบด้วยเมตตา ทั้งลับ-แจ้ง
-
เข้าไปตั้งวจีกรรมประกอบด้วยเมตตา ทั้งลับ-แจ้ง
-
เข้าไปตั้งมโนกรรมประกอบด้วยเมตตา ทั้งลับ-แจ้ง
-
แบ่งปันลาภผลให้กับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย (ลาภา ธัมมิกา – มีลาภตามธรรมแห่งสาธารณโภคี) เป็นสิ่งที่เกิดเป็นผลผลิตที่เราทำร่วมกันได้ สร้างขึ้นมาแล้วก็ไม่เอามาเป็นตัวเราเป็นของเราไม่เป็นของใครถือว่าเป็นของส่วนกลาง มีสิทธิ์ได้มีสิทธิ์เป็น เอามารวมกันกินใช้ร่วมกัน สังคมที่มีสาธารณโภคีเป็นสังคมที่สูงที่สุดในโลก อาตมาภูมิใจมากที่ทำให้เกิด สังคม ชุมชนชาวอโศกทุกชุมชนมีวัฒนธรรมสาธารณโภคีอยู่ร่วมกันทำกินทำใช้ร่วมกันไม่มีของตัวของตน ไม่ใช่เพิ่งจะเป็นแต่เป็นมา 40 กว่าปีแล้ว แต่ทางการ รัฐบาล ทางผู้บริหาร แม้แต่สังคมศาสนาพุทธยังไม่ค่อยเห็นคุณค่า ยังไม่เห็นความจริงอันนี้ ยังไม่เห็นความประเสริฐสุดของศาสนาพุทธที่พวกเราทำ
-
มีศีลเสมอสมานกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย (สีลสามัญญตา) ผู้มีศีล 5 ก็เสมอสมานกับศีล 5 ผู้มีศีล 8 ก็เสมอสมานกับศีล 8 ก็อยู่ร่วมกันไป
-
มีความเห็นเสมอสมานกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย (ทิฏฐิสามัญญตา)(ล.22 ข. 282-283) มีความเข้าใจมีทฤษฎีอันเดียวกันมีความรู้อันเดียวกันมีเป้าหมายสำคัญของชีวิต ตรงกัน
ที่เกิดสาราณียธรรม 6 ได้เพราะปฏิบัติธรรมพระพุทธเจ้าแล้วจิตจะเกิดองค์ธรรม 7 อย่าง
-
สาราณียะ (รู้จักระลึกถึงกัน คำนึงถึงคนที่ควรเอื้อ)
-
ปิยกรณะ (รักกันสัมพันธ์ดี-ปรารถนาดีต่อกัน)
-
ครุกรณะ (เคารพกัน รู้จักฐานะ รู้จักคุณวุฒิ)
-
สังคหะ (สงเคราะห์เกื้อกูลช่วยเหลือกัน)
-
อวิวาทะ (ไม่วิวาทแตกแยกกัน) ชาวอโศกเราไม่ทะเลาะกันไม่มีคดีความกัน ตำรวจบ้านเราส่งไปอบรมได้ใบรับรองก็ มีหน้าที่ดูแลสัตว์ที่มากินพืชผักของเรา ไล่ควาย นี่เป็นจริงนะไม่ได้พูดเล่น ไม่วิวาทกัน ไม่มีเรื่องมีราว
-
สามัคคียะ (พร้อมเพรียงกัน มีพลังรวมยิ่งใหญ่)
-
เอกีภาวะ (เป็นปึกแผ่น มีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน)
(โกสัมพีสูตร พตปฎ. ล.22 ข.282-283)
พระพุทธเจ้าท่านตรัสลักษณะธรรม 7 ประการนี้เกิดจริงเป็นจริงในบุคคลที่ปฏิบัติสัมมาทิฏฐิตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อมีสัมมาปฏิบัติก็จะมีสัมมาปฏิเวธ เกิดพุทธพจน์ 7 นี้ เป็นของจริง เอหิปัสสิโกเชื้อเชิญให้มาพิสูจน์ได้ มาดูได้เลยเห็นได้เลย นี่คือธรรมะที่เราพูดขยายความติดต่อกันจาก sms
สื่อธรรมะพ่อครู(เศรษฐศาสตร์บุญนิยม) ตอน เศรษฐกิจสุดวิเศษแบบพุทธ
วันนี้ตั้งใจจะพูดเรื่องเศรษฐกิจเศรษฐศาสตร์
เศรษฐกิจสุดวิเศษแบบพุทธ
(๑) “เศรษฐกิจ”คิดแต่ตื้น โลกีย์
ล้วนอยากรวยมั่งมี หลากล้น
แข่งเด่นแย่งกันทวี วัตถุ
ได้มากมาท่วมท้น “สุข”แล้วปุถุชน
(๒) คนนับเป็นเครื่องชี้ ชีวิต
จมอยู่กับ“เศรษฐกิจ” แบบนี้
“สุข”ก็ยึดผูกจิต ผนึกแน่น กันเลย
“ติดสุข”หลงลับลี้ นรกเพ้อเป็นสวรรค์
(๓) หันมาสร้าง“เศรษฐกิจ”ให้ “คนจน”
นี่แหละสังคมคน เลิศแท้
“จน”ทรัพย์แต่“สุข”สน- ใจฉลาด ขึ้นเฮย
“อาริยะปัญญา”แก้ ประลุด้วย“สัมมา”
(๔) พาทั้ง“สี่กิจ”ย้อม ความดี
“ตัดกิเลส”ด้วยแสนศรี สุดแล้ว
“อาชีพ-การงาน”มี “คุณวิเศษ” ช่วยแล
“พูด-คิด”พุทธเพริศแพร้ว โลกได้เห็นวิถี
(๕) ว่ามี“ทิฏฐิ”แก้ “เศรษฐกิจ”
ที่เกิดผลสัมฤทธิ์ เด็ดแท้
แบบนี้แหละวิศิษฏ์ สุดยอด เชียวพ่อ
เพราะยั่งยืนวิสุทธิ์แม้ ปราศพ้นโพยภัย
(๖) คนไทยมีพุทธชี้ วิชชา
สูงสุดศาสตร์ที่พา สำเร็จได้
ซึ่งยอดวิธีหา ใดเทียบ เท่าแฮ
อย่างอื่นนั้นแม้ใช้ จบแล้วเวียนคืน
(๗) ยั่งยืน“เศรษฐกิจ”นี้ ครบหมด
มี“อิสระ”สุดใสสด ฟ่องฟ้า
“อัตตา”ก็หมดจด ดับสนิท ได้เด็ด
“จิต”ประธานกาจกล้า แกร่งด้วย“อุตตระ”
“สไมย์ จำปาแพง”
๓๑ ส.ค. ๒๕๖๑
[นัยปก “เราคิดอะไร” ฉบับ ๓๓๙ ประจำเดือนตุลาคม ๒๕๖๑]
พวกเราได้เศรษฐกิจแบบชนิดนี้ดีแล้วใครจะเปลี่ยนเป็นเศรษฐกิจชนิดอื่นยกมือ …ไม่มี
รู้จักโลกีย์แล้วเราก็ลอยตัว อุทธังโสโต โลกียะก็วนเวียนวุ่นวายแต่เราก็อยู่กับเขาได้แต่ไม่ได้เป็นเหมือนกับเขาเลย สบม.ปกต.หห.จจ.มชยลล.
นี่คือเศรษฐกิจสุดพิเศษแบบพุทธ อาตมาพูดนี้ไม่ได้เพ้อเจ้อ เล่นๆ แต่พูดความจริง เป็นทฤษฎีของพุทธเจ้าที่จริง แล้วเอามาปฏิบัติได้พิสูจน์ได้ไหมปัจจุบันนี้ ก็สามารถที่จะปฏิบัติที่สุดตามธรรมะพระพุทธเจ้าได้สำเร็จผล มีจริงเกิดจริง เป็นปรากฏการณ์จริงให้มาพิสูจน์ ให้มาสัมผัสพิสูจน์ได้เลย
อาตมาพูดนี่ พูดอย่างภาคภูมิใจเต็มใจ พูดอย่างไม่มีจิตสาเฐยจิต ไม่มีจิตอยากอวดโอ่เลย ฟังดีๆนะ อาตมาพูดนี้เอาดีมาประกาศ เอาความดีงามของสังคมกลุ่มมนุษย์ของวินัย ของวัฒนธรรมอย่างนี้ เอามาพูดให้คนฟัง จิตใจไม่ดีมีอยากอวดโอ่อะไร มีแต่จะบอกความจริงให้คนเข้าใจ ให้คนเข้าใจว่าใช่หรือ แล้วเขาจะได้มาอยู่ มาได้สนใจ แต่คนที่เขาฟังอย่างมีอคติ คือไม่เชื่อไม่เอา ไม่จริง มีลำเอียงไม่ชอบชัง โมหะไม่รู้เรื่อง ดีไม่ดีกลัวด้วย คนมีอคติก็ไม่ต้องพูดกันหรอก คนเขาเกิดอคติในจิตแล้ว เขาไม่มาตะแคงหูฟัง เงี่ยหูฟังหรอก ก็เหลือแต่คนที่แสวงหา ว่ามีอยู่หรือ อย่างเดวิดนี้ แสวงหาโดยไม่รู้จุดหมายเลย เขาแสวงหามาตลอดชีวิต เขาก็ไม่มีศาสนาไม่เห็นว่าศาสนาเป็นสิ่งที่น่าจะได้ แต่เมื่อมาศึกษานี้ มันมีที่สูงกว่า เขาเชื่อว่าเขาสบาย ชีวิตนี้ก็ล่องลอยไปทั่วโลก จากอังกฤษตอนนี้ก็มาตกที่ราชธานี เขาเก่งนะไม่รู้เอาสตังค์จากไหนมา แต่เขาก็ว่าเขาพอใจ คือคนเราไม่หลงอบายมุขไม่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย อย่างน้อยสูบบุหรี่ก็ไม่พอแล้ว แต่นี่เขาไม่ได้มีอย่างนั้นแค่อาหารใส่ท้องเสื้อผ้าคลุมกาย นอกนั้นก็ไม่ได้ติดอะไรก็ไม่เปลืองอะไร
เพราะฉะนั้นคนที่สามารถรู้จักความเป็นจริงของชีวิต ที่จริงชีวิตนี้มันไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไรเลยมันเท่ากับต้นหญ้า ชีวิตเรียบๆง่ายๆ เท่ากับต้นหญ้า ชีวิตเหมือนดอกหญ้า แต่มันใหญ่ยิ่งเป็นมหาพลังเย็นโอบอุ้มโลก
อาตมาหอบพจนานุกรมเล่มใหญ่
เศรษฐกิจ เขาแปลว่างานอันเกี่ยวกับการผลิต การจำหน่ายจ่ายแจก และการบริโภคใช้สอยสิ่งต่างๆของชุมชน เพราะฉะนั้นพวกเรานี้ก็จะมีรูปแบบของเศรษฐกิจ ของเราเป็นชุมชน จะมีรูปแบบของเศรษฐกิจ แล้วก็ถอยหลังไป
เศรษฐกิจคืองานอันเกี่ยวกับการผลิต 1. ผลิต 2. จำหน่ายจ่ายแจก 3. บริโภคใช้สอย
จะบอกว่าเศรษฐกิจดีเป็นอย่างไร เศรษฐกิจดีก็คือเกิดการสะพัดผลผลิต จ่ายแจกหรือจำหน่าย แล้วต่างก็ได้ บริโภคใช้สอยกันได้อย่างทั่วถึง ไม่เกิดการยื้อแย่ง ไม่เกิดการเบียดเบียน มีความเป็นอยู่อย่างสุขสบายอิ่มหนำสำราญ ไม่แย่งชิง ผลผลิตหากไม่พอกินพอใช้ก็สร้างขึ้นมาให้พอกินพอใช้ ดีไม่ดีก็มีเหลือเกิน เราก็เอาไปแบ่งแจกผู้อื่นอีก เพราะพวกเราพอกินพอใช้แล้ว เหลือก็แบ่ง ก็เป็นชุมชนที่มีประโยชน์มีเศรษฐกิจดี สะพัดให้ผู้อื่นได้ แจกฟรี ขายก็ถูกๆ ไม่ขายอย่างขูดรีดเอากำไร นี่คือผู้ที่บรรลุเศรษฐกิจสูงสุด พวกเราปฏิบัติได้
คือ เราพึ่งตนเองได้ ทำกินทำใช้ พอกินพอใช้ สิ่งที่เราทำไม่เป็นทำไม่ได้ทำเองไม่ได้แต่เรากินเราใช้เราก็ซื้อเขา เราก็ต้องมีสตางค์ จึงต้องขายบ้างเอาสตางค์มาไว้เพื่อจะซื้อสิ่งที่เรายังผลิตไม่เป็นผลิตไม่ได้ ผลิตไม่พอเพียง ไฟฟ้าเป็นต้น น้ำมันเป็นต้น หรือเครื่องใช้อื่นๆใดๆที่เราผลิตเองไม่ได้ เราก็ซื้อเขาใช้แล้วเอามาทำงานกันอยู่ในสังคมเรา ให้มันเป็นงานที่เป็นประโยชน์ต่อตน ตนเองก็ได้อาศัย ท่านก็ได้อาศัย
เช่นเรามีโทรทัศน์มีสถานีโทรทัศน์ ก็มีวัฒนธรรมอันประเสริฐ ค่าใช้จ่ายเรามีน้อยที่สุดในกระบวนการโทรทัศน์ที่มีทุกช่องในโลก เป็นสถานีโทรทัศน์ที่มีค่าใช้จ่ายถูกที่สุด เพราะทุกคนทำงานในโทรทัศน์ทุกแห่ง ของเรานี่มีสาขา มี substation สี่แห่งที่ถ่ายทอดสดได้ ทุกคนทำงานฟรีหมดไม่ได้จ้าง กินอาหารส่วนกลาง อยู่กันกับส่วนกลาง อย่างนี้เป็นต้น
นอกนั้นก็พยายามทำเอง แม้แต่การซ่อมสร้าง การที่จะดูแลรักษา ทำงานถ่ายทอดปัจจุบัน 24 ชั่วโมงตลอดมาหลายสิบปีแล้ว ก็อยู่ได้ ถูกที่สุด ไม่มีที่ไหนเป็นได้ ไม่เรี่ยไร คนจะเอาเงินมาให้ยังไม่รับง่ายๆเลย คุณต้องเป็นสมาชิกชาวอโศกจึงจะรับ ถ้ายังไม่เป็นสมาชิกชาวอโศก แม้จะดูโทรทัศน์ของเรา จะมาช่วยเงินก็ไม่มีสิทธิ์ ต้องดูโทรทัศน์ของเราอย่างน้อย 7 เดือนขึ้นไป ถึงจะมีสิทธิ์ที่จะมาบริจาค คุณต้องรู้ว่าโทรทัศน์คุณถ่ายทอดอะไรสื่อสารอะไรให้แก่ประชาชน หากคุณเห็นว่าอันนี้จะต้องช่วยเพราะอันนี้เป็นประโยชน์กับประชาชนจะต้องเอาเงินมาช่วยเหลือ คุณต้องแน่ใจว่า คุณมาบริจาค support ให้ที่นี่ ที่นี่เป็นประโยชน์เป็นของดีนะ ไม่ใช่สุ่มสี่สุ่มห้าให้ไปอะไรก็ไม่รู้ นอกจากเป็นประโยชน์แล้วที่นี่คอรัปชั่นไหม ที่สำคัญนะ มาบริจาคให้แล้วที่นี่คอรัปชั่นไหม คุณต้องมาตรวจสอบว่าที่นี่ไม่มีคอรัปชั่นและเป็นคุณค่าประโยชน์ต่อมนุษยชาติดีด้วย สองข้อนี้ก็พอ มีข้ออื่นๆก็ว่าไปแล้วแต่ อย่างนี้เป็นต้น
อาตมาพาพวกเราทำงานแบบนี้ ทุกวันนี้อาตมาทำงานมาทั้งด้านนี้เกือบจะ 50 ปีแล้ว อาตมาสบายใจ พึงพอใจ เพราะว่าอาตมาทำมาถึงขนาดนี้ มีคนเข้าใจเต็มใจตั้งใจที่จะมาเป็นคนชนิดนี้ โดยไม่มีวิจิกิจฉา ไม่มีความสงสัยลังเลหลายคนเอาชีวิตมาทุ่มเทอยู่กับหมู่กลุ่มสังคมนี้ สังคมกลุ่มนี้มีสถานที่อยู่มีบุคคลมีอาหารมีธรรมะมีสัปปายะ 4 เรียบร้อย ทั้งแหล่งที่มีนิตินัยอย่าง บ้านราชฯหมู่ที่ 10 ตำบลบุ่งไหม อำเภอวารินชำราบ มีผู้ใหญ่บ้านที่รับรองจากทางการมีตำแหน่งมีเงินเดือนถูกต้อง เราจะอยู่ไปอย่างนี้ อาตมาตายไปจะตั้งอยู่ได้ไหมนี่ คุณจะดูแลต่อใช่ไหม?
สมณะฟ้าไทว่า… ก็ดูแลเท่าที่สามารถกับหมู่กลุ่ม
พ่อครูว่า…อาตมาเป็นผู้นำก็จริง แต่ทุกวันนี้พยายามไม่ต้องเอาอาตมาเป็นหลัก อาตมาจะปลดเกษียณแล้ว คุณจะประชุมก็ประชุมกันเอง ใครจะเป็นผู้รับใช้ เราเรียกผู้เป็นประธานผู้เป็นหัวหน้าว่าผู้รับใช้ ก็ว่ากัน จะเป็นผู้ช่วยด้านไหนตำแหน่งกรรมการอย่างนั้นอย่างนี้ก็ช่วยกันแบ่งงานกันทำ มันมีระบบระเบียบของโลก ก็เอามาใช้ด้วยก็เป็นอยู่กันไปอย่างอยู่ดีมีสุข
เป็นตัวอย่างสังคมของโลกนะ ไม่ใช่ของแค่ประเทศไทย เป็นตัวอย่างของสังคมของโลกที่โลกเขาต้องการแม้คุณเองไม่มีสามัญสำนึกจะรู้ว่าเป็นสิ่งที่ต้องการ แต่ใต้สำนึกไร้สำนึกของคุณก็ต้องการอย่างนี้ สำนึกของคุณไม่ต้องเป็น conscious ก็ตาม แต่ subconscious unconscious คุณต้องการอย่างนี้เพราะมันลงตัวสูงสุดแล้ว
ที่อาตมาสรุป มันมีความอิสระเสรีภาพสูงสุด มันมีการล้างความเห็นแก่ตัว ล้างอัตตาตัวตนไปตามลำดับจนหมดอัตตาตัวตนได้เลยสูงสุด เป็นอรหันต์ได้
แล้วมีประธานคืออัตตาตัวเองที่หมดความเห็นแก่ตัวอยู่กับหมู่กลุ่ม มีชีวิตอยู่รับใช้ผู้อื่นไปเท่าที่เราสามารถทำอันนี้ได้ดี เราก็มีปัญญาอยู่ในนี้ด้วย
อรหันต์ของพระพุทธเจ้ามีปัญญารู้ว่าอะไรดีอะไรไม่ดีตามสมมติสัจจะปรมัตถสัจจะ สัจจะสองอย่าง สมมติตามโลกนั้นไม่เที่ยง เช่นตอนนี้กฎหมายออกมาอย่างนี้แน่นอนคุณต้องปฏิบัติตามกฎหมายใหม่ที่ต้องใช้ปฏิบัติ ถ้าหากเขาร่างกฎหมายมาใหม่ เปลี่ยนแปลงไปจากอันนี้ ดีไม่ดีเปลี่ยนแปลงไปคนละขั้ว คนก็ต้องไปปฏิบัติตามกฎหมายใหม่มันเที่ยงที่ไหนสมมติสัจจะ อย่างนี้เป็นต้น ก็ต้องอยู่กับสมมติของโลก พระพุทธเจ้าให้มีชีวิตปฏิวัติไปตาม ราชูนังอนุวัตติตุง สมัยโบราณเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชก็เลยเอาราชา เอาอนุวัติตามพระราชา เราต้องคล้อยตามพระเจ้าแผ่นดินอนุญาตให้คล้อยตามพระเจ้าแผ่นดิน สมัยนี้ก็จะต้องเอาตามรัฐธรรมนูญ
อาตมาจับความสำคัญของมนุษยชาติ ถ้าชื่อว่าระบบคอมมิวนิสต์เขาชื่อว่าการบังคับ ยอมรับการบังคับ คอมมิวนิสต์จึงไม่ใช่ระบอบที่จะมีอิสระเสรีภาพ เขามีกฎระเบียบ เขายืนยันว่าเขาจะต้องมีคณะที่จะต้องมั่นใจว่า กฎระเบียบนี้เป็นข้อบังคับ
ประชาธิปไตยนั้นต้องมีอิสระเสรีภาพ และประชาธิปไตยของพุทธเจ้า ของพุทธเจ้าคือประชาธิปไตยที่สุดยอด Absolute มีทั้งอิสรเสรีภาพ เป็นทั้งไม่มีอัตตา ไม่มีตัวเห็นแก่ตัวเลย จึงอยู่เพื่อเห็นแก่ผู้อื่น รับใช้ผู้อื่น
ทีนี้สำคัญที่สุดก็อยู่ที่จิตเป็นประธาน ของแต่ละคน อาตมาสรุปบทกวีนี้ว่า “จิต”ประธานกาจกล้า แกร่งด้วย“อุตตระ” จิตของผู้บริหารสูงสุดแล้วจะกาจกล้าแกร่ง ด้วยอุตระ อุตตระคือปัญญา สติเป็นอธิปไตย ตามมูลสูตร 10
มีบทกวี ที่อาตมาเรียบเรียงไว้
สิ่งที่เราต้องการนั้น
มันไม่ใหญ่โตอัครฐาน อะไรดอก !
ชีวิตง่ายๆ ถูกๆ ขยันๆ
รู้จักพอดี
มีความซื่อสัตย์ มีเมตตา
เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นเสมอๆ
ชีวิตเหมือนดอกหญ้า
แต่มันใหญ่ยิ่ง
เป็นมหาพลังเย็นโอบอุ้มโลก
และคือการเข้าถึง
โลกใหม่ (ปรโลก) ได้แล้ว
นี่คือชีวิตของมนุษย์ อาตมาเขียนออกมาจากใจของตัวเอง มันไม่ใช่ของเพ้อเจ้อ แต่มันเป็นสัจจะที่คิดว่าอาตมาซาบซึ้ง ชีวิตไม่อัครฐานอะไรที่เราต้องการ ชีวิตถูกๆ นี่ทั้งถูกต้องด้วย และชีวิตที่ไม่แพงก็ได้ ขยันๆ รู้จักพอดี มีความซื่อสัตย์มีเมตตา เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นเสมอๆ ตนเองไม่เป็นภาระไม่เบียดเบียนใคร แต่เราก็ต้องเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น เหมือนดอกหญ้า ใครเห็นประโยชน์เอาไปเด็ดแซมผมหรือทำยาทำอาหาร ก็มีต้นมีดอกมีผล พีชนิยาม ตามสัจจะของมันเป็นพืช ก็ต้องเกิดหมุนเวียนอย่างนั้น เป็นตัวตน ISH แล้ว มีบวกมีลบกับประธาน ประธานก็ดูแลบวกลบ ดูแล นิวเคลียส เป็นธรรมะ 2 และปรับปรุงให้เป็นตัวเอง ISH ปรับปรุงตัวเองให้เป็นตัวเองเป็นตระกูลอันนี้ กล้วยก็ยังเป็นกล้วยนิรันดร ถ้ายังไม่สูญพันธ์ไป ใครมี breed มันใหม่เอาธาตุอื่นมาผสมก็เพี้ยนไปได้ คนนี่เก่งไปเติมมัน มีความรู้ผสมมัน เปลี่ยน DNA ของมัน ก็ทำไป คนมันมีความรู้อวดดีอวดเก่งไปเที่ยวได้เปลี่ยนแปลงเขา เขามีตระกูลของเขาก็เปลี่ยนแปลงตระกูลของเขาเสีย
มาพูดถึงเศรษฐกิจให้ดีๆ คำว่าเศรษฐกิจในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตคืองานอันเกี่ยวกับการผลิตการจำหน่ายจ่ายแจกและการอุปโภคบริโภคใช้สอยผลผลิตชุมชน
ก็สรุปว่า เป็นของชุมชนด้วยเพราะจะเป็นรูปแบบที่ลงตัว ชุมชนใดก็ตามที่เขามีวัฒนธรรมแล้ว
อย่างชุมชนข้างเคียงของเราหมู่บ้านกุดระงุม คำกลาง ท่ากกเสียว วังกางฮุง เขาก็มีความลงตัวของเขา ลองวิเคราะห์วิจัยเล่นๆ มีความแตกต่างกัน
ชุมชนราชธานีอโศกกับชุมชนกุดระงุมต่างกันไหม ต่างกันอย่างไร
-
ต่างคนต่างอยู่บ้านใครบ้านมันครอบครัวใครครอบครัวมัน ทรัพย์สินเงินทองบ้านใครบ้านมันครอบครัวใครครอบครัวมัน จะมีการเฉลี่ยออกมาส่วนกลางบ้าง ก็ยาก ส่วนกลางก็จะอาศัยของรัฐบาล ของส่วนกลางส่วนรวมของประเทศ ส่วนของส่วนตัวก็มีของตัว
เทียบกับของราชธานีอโศกไม่มีส่วนตัว ไม่ต่างคนต่างอยู่ อยู่รวมกัน ตื่นเช้าขึ้นมาก็มารวมกันมีหน้าที่อะไรจะทำก็ทำขึ้นมารวมกันอาศัยใช้สอยกินอยู่ ก็มาทำ ทำงานต่างๆ เป็นกิจส่วนกลาง งานส่วนตัวก็มีบ้างเล็กน้อย ก็จะเห็นได้ว่าจริงๆแล้วคนเราส่วนตัวมันไม่มีอะไรมาก เพราะฉะนั้นใครจะมาดูงานมาดูสังคมชาวอโศก จะเห็นได้ว่าส่วนตัวเขามีบ้าง เขาก็อยู่บ้าน บางบ้านไม่ติดคิดว่าเป็นบ้านเรา เขาก็ไม่ให้มันรกรุงรัง สะอาดไม่มีเชื้อโรค ก็พอแล้ว เสร็จแล้วก็มาอยู่ส่วนกลาง ตอนเย็นก็กลับบ้านปัดกวาดเช็ดถูแล้วก็มาทำงานส่วนกลางเป็นที่อาศัยหลับนอนพักผ่อน สบายไม่ต้องห่วงหาอาวรณ์อะไรมากมาย มีจิตใจที่พอเพียงไม่โลภโมโทสันมากกว่านี้ไม่ต้องการเพิ่มมากกว่านี้ มีเท่านี้ก็ดีแล้ว อยู่กับหมู่ร่วมสร้างสรรวัตถุส่วนกลาง เราจะมีปุ๋ยออกไปจำหน่ายจ่ายแจกมีพืชพันธุ์ธัญญาหารออกไปจำหน่ายจ่ายแจก เราจะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ออกไปเผื่อแผ่คนอื่นข้างนอกเขา ที่เขายังกินยังใช้อาศัย สิ่งที่เป็นพิษภัยเป็นโทษเราไม่สร้างเราไม่เสียเวลาแรงงานทุนรอนเอาไปสร้าง เราสร้างแต่สิ่งที่มีประโยชน์ สิ่งที่เป็นอบายมุขเป็นสิ่งที่เป็นพิษเป็นสิ่งที่มอมเมาเราไม่สร้าง เราสร้างในสิ่งที่เรามีความรู้แล้ว เราไม่เสียเวลาแรงงานทุนรอนไปสร้างสิ่งที่ไม่เข้าท่า เช่นเอาเวลาไปเต้นแรงเต้นกามากมายไม่เอา แต่เราก็มีบันเทิง amateur นิดๆหน่อยๆ เป็นอดิเรก เล็กๆน้อยๆ relax ผ่อนคลายนิดๆหน่อยๆ ไม่ได้เป็นอาชีพไม่ได้เป็นงานหลัก
ใครเอางานพักผ่อนถ้าไปเอางานพักผ่อนนิดๆหน่อยๆ เอามาเป็นงานอาชีพสังคมนั้นเป็นสังคมเสื่อม สังคมใดประเทศใดไปยกย่องอาชีพการละเล่นการพักผ่อน เป็นงานหลัก เป็นอาชีพ สังคมนั้นฉลาดน้อย แปลเป็นไทยว่าโง่หนัก โง่มาก เป็นคนฉลาดน้อย เขาไม่รู้ความจริงเอาหัวต่างตีน เอาข้างบนลงล่าง เอาล่างขึ้นบน
โลกไม่ได้ศึกษาสิ่งเหล่านี้จึงไม่เข้าใจ พระพุทธเจ้าเข้าใจจุดนี้ ถึงไม่เหมือนโลกเขาเป็นความเห็นของคนส่วนน้อย แต่เป็นความเห็นที่ดีงาม เป็นความเห็นที่ไม่เสียหายเป็นความเห็นที่ไม่เป็นภาระ เป็นความเห็นที่เรียกว่าเศรษฐกิจนี่แหละ ดีที่สุด เพราะฉะนั้นชาวอโศกเรา อาตมาขออภัยที่ต้องพูดความจริงมันจะเป็นการยกตัวยกตน คุยโม้ว่า ชาวอโศกเป็นผู้ที่มีเศรษฐกิจดีที่สุดในโลกเป็นเศรษฐกิจในระดับสาธารณโภคี
สาธารณโภคีสรุปง่ายๆ คือเป็นเศรษฐกิจที่
-
พอกิน สร้างสรรอย่างไม่เบียดเบียนใครไม่เป็นนี่
-
พึ่งพาตัวเองรอด
-
มีเหลือเฟือเกินกินเกินใช้
-
แจกจ่ายแก่ผู้อื่น
อาตมาพูดซ้ำซาก เพราะเป็นความสำเร็จที่จบสุดแล้ว axiom สุดยอดแล้ว
อันนี้จึงเป็นเรื่องที่ยั่งยืนเป็นเศรษฐกิจยั่งยืน เป็นสังคมมนุษย์ที่มีสุขยั่งยืนสงบยังยืน เจริญยั่งยืน อาริยะยั่งยืน Civilization ที่ยั่งยืน Forever
อาตมาพูดแล้วเหมือนคุยตัวอวดอ้างแต่มันจริง คนมาตรวจสอบได้เลยเป็นPhenomenon Status quo ตอนนี้เลย มาทำวิจัยมาศึกษาทำวิทยานิพนธ์ได้เลย มันเป็นความรู้ที่อาตมาเรียบเรียงไว้ว่า
ความรู้ของคนมันมีแบบPhilosophy ขึ้นมาก็เป็น Epistemology เป็นความรู้แค่ปรัชญาคือ Philosophy แล้วมันก็สูงขึ้นมาได้ เอาให้มันเกิดผลจริงบ้างเป็นธรรมชาติเป็นความเป็นไปได้ Epistemology เรียกเป็นภาษาไทยว่า ญาณวิทยา แต่อันนี้สูงกว่า Epistemology เป็น Phenomenology เป็นปรากฏการณ์วิทยา
ถ้าใครเข้าใจความรู้ หรือวิชาการที่เขาแบ่งกลุ่มกัน อันนี้คือ Phenomenology เป็นปรากฏการณ์วิทยาทำได้เป็นจริงพิสูจน์ได้ พิสูจน์ได้ถึงขั้นนามธรรม มีความสุข
ความสุขมี 2 แบบ ความสุขที่ต้องได้ทรัพย์สินเงินทองลาภยศสรรเสริญมามากๆและเป็นสุขไม่ใช่ แต่ที่นี่เป็นความสุขที่ไม่ต้องบำเรอ สุขมีของกินของใช้เพราะความขยันหมั่นเพียร เพราะทุกคนรู้ว่าเราควรเป็นคนมีประโยชน์มีคุณค่า ไม่ควรไปเบียดเบียนเป็นปลิงเป็นทากของสังคม ดูดเลือดผู้อื่นเบียดเบียนผู้อื่นไม่ใช่ เราก็เป็นผู้สร้างสรรเป็นแรงเป็นพลังงานหลักของการสร้างสรรสิ่งที่จะอาศัยใช้กินให้มันอุดมสมบูรณ์ มีเหลือก็สะพัดแก่ผู้อื่น
มี GDP ที่สุดยอด
Gross Domestic Product รายได้องค์รวม แล้วก็กำกับด้วย Domestic หมายความว่าของกลุ่มเราภายในไม่เกี่ยวกับคนอื่น เพราะฉะนั้นรายได้องค์รวม ของเรามี Product มีกระบวนการสร้างสรรขึ้นมา ทำขึ้นมาได้แล้ว มันเป็นผลผลิตมีรายได้รวมแล้ว ได้เท่าไหร่
-
พอกินพอใช้ส่วนตัวไหม
-
เหลือกินเหลือใช้ส่วนตัวไหม
-
ไปเอาของคนอื่นเข้ามาไหม
เอาสามช็อยส์นี้ของเราสำเร็จ
หนึ่งของเราพอกินพอใช้ สองเราเหลือเฟือ สามเราไม่ได้เอาของคนอื่นเขามา เราก็ไม่เบียดเบียใคร เหลือเฟือแล้วเราก็แจก หรือขายบ้าง ขายอย่างไม่รีดนาทาเร้น เราไม่ตะกละว่าสังคมเราจะต้องรวย
พูดทีไรก็คิดถึงพระราชดำรัสของในหลวง
ก็แปลว่า ขาดทุน คือ เป็นการได้กำไรของเรา หรือการขาดทุนของเรา เป็นการได้กำไรของเรา ท่านนักเศรษฐกิจคงร้องว่า ไม่ใช่ แต่ว่าเป็นไปอย่างนั้น ก็เห็นว่านักเศรษฐกิจก็ยิ้้ม ยิ้ม ๆ ว่า อะไร ? พูดอย่างนี้ “การขาดทุนของเรา เป็นการได้กำไรของเรา” หรือเราได้กำไร แต่พูดภาษาอังกฤษมันสั้นกว่า งั้นก็ต้องขยายว่าภาษาอังกฤษเป็นอย่างไร ? ภาษาอังกฤษ Our หมายความว่า ของเรา Our Loss .. Loss ก็การเสียหาย, การขาดทุน Our Loss Is .. Is ก็เป็น Our Loss Is Our .. Our ก็คือของเรา “Our Loss Is Our Gain” ..Gain ก็คือกำไรหรือที่ได้ ส่วนที่เป็นรายรับ ก็ตกลงบอกกับเขาว่า “Our Loss Is Our Gain” ขาดทุนของเราเป็นกำไรของเรา หรือว่า เราขาดทุน เราก็ ได้กำไร เวลาพูดไปแล้วเขาก็บอกว่า “ขอย้ำ ขอซ้ำอีกที” ก็พูดซ้ำอีกที เขาก็นั่งเฉยไปอีก ก็หมายความว่าต้องการ การอธิบาย เราก็อธิบาย อธิบายว่า ถ้าเราทำอะไรที่เป็นการกระทำแล้วก็เราเสีย แต่ในที่สุดก็ ไอ้ที่เราเสียนั้นมันเป็น “การได้”..
“แบบที่เรียกว่า ทำ “แบบคนจน” คือทำวิธีการแบบคนจน ไม่ได้มีการลงทุนมากหลายอย่างของเขาเราก็ทำไป ก็เลยบอกว่าถ้าจะแนะนำ ก็แนะนำได้ “ทำแบบคนจน” เพราะเราไม่ได้เป็นประเทศที่รวย เราก็รวยพอสมควร อยู่ได้ แต่ไม่ใช่เป็นประเทศที่ก้าวหน้าอย่างมาก เราไม่อยากจะเป็นประเทศอย่างก้าวหน้าอย่างมาก เพราะว่าถ้าเราเป็นประเทศที่ก้าวหน้าอย่างมาก มีแต่.. มีแต่ถอยหลัง ประเทศเหล่านั้นที่เขามีอุตสาหกรรมสูงมีแต่ถอยหลัง และถอยหลังอย่างน่ากลัว แต่ถ้าเรามีการปกครองแบบ แบบว่า แบบคนจน แบบที่ไม่ติดกับตำรามากเกินไป ทำอย่างมีสามัคคีนี่แหละ มีเมตตากัน ก็จะอยู่ได้ตลอดไป ไม่เหมือนคนที่ทำตามวิชาการ แล้วก็วิชาการนั้นก็เราดูตำราแล้วพลิกไปถึงหน้าสุดท้าย หนึ่งหน้าสุดท้ายนั้นเขาบอกว่า”อนาคตยังมี” แต่ไม่บอกว่าเป็นอย่างไร เวลาปิดเล่มแล้วมันก็ปิดตำรา ปิดตำราแล้วไม่รู้จะทำอะไร ลงท้ายก็ต้องเปิดหน้าแรกใหม่ เปิดหน้าแรกก็เริ่มต้นใหม่ “ถอยหลังเข้าคลอง”แต่ถ้าเราใช้ตำราแบบที่เราอะลุ่มอล่วยกัน ตำรานั้นไม่จบ”
พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานไว้เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2534
พ่อครูว่า…ฟังในหลวงก็รู้สึกเห็นใจผู้อื่นเขาที่เขาฟังแล้วไม่ซาบซึ้ง แต่ถ้ามาฟังแล้วซาบซึ้งมันสุดยอดแล้ว เมื่อไหร่หนอคนจะเข้าใจว่าชีวิตอย่างนี้เป็นชีวิตประเสริฐ เป็นชีวิตความเจริญของจิตใจของภูมิปัญญา เพราะคนเรา ไม่ต้องไปมีชีวิตที่จะไปยื้อแย่ง จะต้องรวยจะต้องมีมากๆสะสมเอาไว้ ถ้าในโลกนี้มีอะไรต่างๆ คุณก็เอามาไว้เป็นของตัวเอง เช่นเรามีที่ดินมากๆ ซื้อเอาไว้สะสม คนอื่นจะมีที่ดินขาดแคลนขึ้น เพราะคุณเอามาไว้เป็นของตนเองคนอื่นก็ขาดแคลน
จะเป็นเพชรนิลจินดามันก็มีจำนวนหนึ่งจำกัดคุณก็เอามาสะสมไว้มากๆ คนอื่นเขาก็อยากได้มากเขาก็ขาดแคลน แม้แต่ที่สุด มีข้าวมีอาหารการกิน คุณก็เอามาไว้เป็นของคุณมากๆ คนอื่นก็ขาดแคลน เพราะฉะนั้นในประเด็นแรกถ้าเราสะสม คนอื่นก็จะต้องขาดแคลน ง่ายๆไม่ได้ยากอะไรเลย
ทีนี้เอาประเด็นกลับกันอีก ถ้าเราไม่สะสม เราจะขาดแคลนไหม ไม่ เราจะเดือดร้อนไหม ไม่เดือดร้อน
ถ้าเราไม่สะสม เราก็ต้องมีของตัวเอง แล้วของมันจะมีขึ้นมาได้จากอะไรหากไม่สะสมมันเกิดขึ้นแล้ว เช่น กล้วย คุณจะมีกล้วยอีกก็ต้องปลูกขึ้นมาใหม่ เราไม่สะสมก็ต้องปลูก เราก็ต้องมีความฉลาด กล้วยแล้วก็ต้องปลูกไป ตอนนี้มันก็โตตอนนี้มันก็ออกลูกออกปลีเอามาทำกินได้ เรามีกล้วยตั้งหลายขนาดเก็บกินหมุนเวียนทัน คนก็ต้องมีปัญญาอย่างนี้ เราจะกินอะไรใช้อะไร กินกล้วยกินส้มโอกินมะละกอกินลองกองกินแก้วมังกร พืชผักอะไรเราก็ทำขึ้นมา
เสื้อผ้าหน้าแพรมันก็ไม่ได้ขาดง่ายๆเลย ชุด 1 ใช้ได้ประมาณ 10 ปี เลย 10 ปีก็ยังได้เลย ถ้าคุณไม่สุรุ่ยสุร่าย ไม่เป็นคนที่ใช้อย่างเปลือง มันก็ใช้ได้อย่างสบายๆ เครื่องผ้าในปัจจัย 4 นี้ อาหารเครื่องนุ่งห่มที่อยู่อาศัยยารักษาโรค ท่านสรุปปัจจัยอันจำเป็นที่สุดของชีวิตไว้แล้ว
อาหารเป็นหนึ่ง ขาดแคลนไม่ได้ต้องกินทุกวัน เครื่องนุ่งห่มมันก็มีเล็กน้อย พระพุทธเจ้าให้มาประหยัดที่สุด เป็นภิกษุเป็นสมณะมีผ้าแค่ 3 ผืนก็พอใช้นุ่ง ใช้ครองอีกอันก็เปลี่ยนผลัดเอา มันหนาวก็สองผืนซ้อน อย่างนี้เป็นต้น ท่านก็สรุปผลเอาไว้
ที่อยู่ นอนรุกขมูลโคนไม้ก็ได้ ในยุคนี้ไม่ได้ รุกขมูลโคนไม้ มีเจ้าของหมด แม้แต่ของสาธารณะก็มีคนดูแลอีก มีพิษด้วย ที่อยู่ก็พอมีบ้างเล็กน้อย
ยารักษาโรค คนเป็นโรคทุกวันหรือ นานๆทีจะใช้ยา แต่เราก็มี ยิ่งเราเรียนรู้ยารักษาสมุนไพร พืชพันธุ์ธัญญาหาร ทุกวันนี้เรากินอาหารเป็นยา ตอนนี้ก็เลย แม้แต่ยาปฏิชีวนะเราก็ไม่จำเป็นต้องใช้อะไรมาก ใช้ยาธรรมชาติยาสมุนไพร ความรู้เก่าแก่โบราณมีก็ศึกษาไว้สบาย สมุนไพรปลูกเอาไว้ใช้
ราชธานีอโศก อาตมาว่า จะมีเเหล่งที่เป็นพืชพรรณธัญญาหารใช้เป็นยา ชีวกโกมารภัจจ์เกิดมาก็เอามารักษาได้หมดเลย รักษาได้ถ้ามีความรู้
สรุปแล้วชีวิตมันไม่ยากอะไรเลย ถ้าเข้าใจปัจจัยชีวิต พวกเราศึกษาตามธรรมะพุทธเจ้าแล้วตามทฤษฎีพระพุทธเจ้าแล้วจึงง่ายสบาย ก็เลยไม่ต้องเสียเวลาไม่ต้องไปเต้นแร้งเต้นกา แข่งกัน เดี๋ยวก็เสนอกีฬาอันนั้นอันนี้ กีฬาเป็นเรื่องของเด็กมันก็ไม่โตสักทีเล่นอยู่อย่างนั้น เอามาเป็นเรื่องเป็นราวเป็นใหญ่โต ทั้งที่มันเป็นเรื่องเล่นเป็นเรื่องเด็กก็ไม่โตสักที แล้วยกเลิกของเล่นเด็กมาเป็นกีฬาโอลิมปิกกีฬาอาเซียน กีฬาเหรียญทองเหรียญเงิน หลอกกันมุขกันไป แข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ชนะได้ก็ดีใจ สักวันเส้นสมองแตก จริงๆนะ มันผลักดันความตื่นเต้นดีใจมากเกินไป มันเป็นอุพเพงคาปีติที่เกินเขต เดี๋ยวก็ตาย
สรุปลงที่เศรษฐกิจ เสฏฐะ ภาษาอังกฤษ Economic แปลว่าประหยัด ของไทยเราเอาภาษาสันสกฤตมาใช้ ของบาลีคือเสฏฐะ มันแปลว่า ความเจริญความประเสริฐ เสฏฐะเสฏโฐ ไม่ได้แปลว่าความประหยัด ดีไม่ดี เจริญแล้วก็ไปหลงโลกีย์ว่า ผู้เจริญด้วยทรัพย์สินเงินทองคือเศรษฐี ความจริงไม่ใช่ คนที่มีเงินทองมากเขาเรียกกระฎุมพี ศัพท์บาลีนะ
เศรษฐีนั่นคืออริยบุคคล เสฏโฐ ผู้เจริญผู้ประเสริฐผู้เป็นอาริยบุคคล ส่วนคนมีเงินทองมากเขาเรียกกระฎุมพี แล้วคำว่ากระฎุมพีนี้เขาไม่ค่อยใช้เพราะรู้ว่ามันไม่ค่อยดี เหมือนกับคำว่าฉลาด ฉลาดเอาเปรียบเอารัดขี้โกงแย่งชิง แม้จะเป็นอัจฉริยะก็ตาม คนที่มีความฉลาดในการแย่งลาภยศสรรเสริญไม่ได้มีความรู้ทางโลกุตระ มีแต่เฉโกทั้งนั้น ไม่ได้มีความฉลาดแบบปัญญาเลยแต่เอาคำว่า ปัญญา ไปใช้เรียกความหมายที่เป็น เฉโกโลกีย์ไปหมด คำว่าปัญญาที่เขาใช้ในปัจจุบันจึงไม่ได้มีความหมายอย่างที่ควรจะเป็น
ปัญญานี้เป็นโลกุตรธรรม เกิดจากรากศัพท์ของ อัญญะ มาเป็นอัญญา แปลว่าอื่น พอเป็นพหูพจน์คือความรู้นึกคิดที่แปลกไปจากเดิม เป็นความฉลาดที่แปลกไปจากเดิม แตกต่างกันจากที่เดิมที่เขารู้คือเฉกะหรือเฉโกหรือเฉกตา (คำนาม)
ส่วนคนเริ่มมีอัญญธาตุ ธาตุฉลาดแบบใหม่ไม่แย่งชิงแล้ว อยู่อย่างมีประโยชน์เป็นคนอาริยะเป็นคนเจริญเป็นคนประเสริฐแท้ คนนี้เป็นเศรษฐี เสฏโฐแต่สับสนหมดแล้วเอาคำว่ากระฎุมพีมาเรียกเศรษฐี เหมือนกับคำว่า เฉโกเขาทิ้งหมดแล้วเอาแต่คำว่าปัญญามาใช้ แม้ว่าพฤติกรรมเป็นการแย่งลาภยศสรรเสริญโลกียสุขก็เลยใช้เรียกว่าปัญญาอีก
เมื่อเข้าใจผิดไปแล้วสับสนกันไปก็เสียหาย คนก็ปฏิบัติไม่ถูก แต่พวกเราเข้าใจชัดเจนแล้วจนกระทั่งสามารถที่จะรู้ ปัญญานี้จะเกิดได้ มันมีนิยามชัดๆว่า ปัญญาต้องเกิดด้วยมีครบพร้อมทั้งทวาร 6 ปัญญาจะเกิดจากทวารเดียวมีความฉลาดรับรู้แม้จะฉลาดมากขนาดไหนก็แล้วแต่ ฉลาดแบบนั้นไม่เรียกว่าปัญญาเลย เพราะว่าฉลาดแบบนั้นไม่ถือว่าเป็นความจริง ความจริงจะต้องเป็นปัจจุบันธรรม ความจริงไม่ใช่อดีต
ในสามกาละ อดีต ปัจจุบัน อนาคต ความจริงคือปัจจุบัน อดีตมันจบไปแล้วไม่เป็นความจริงปัจจุบันแล้ว มาไม่ถึงเลยแล้วจะมีความจริงได้อย่างไร ความจริงมันอยู่ที่ปัจจุบันนี้ต่างหาก นี่ความจริง ถ้าใครจับความจริงไม่ถูกก็หลงอยู่กับอดีตและอนาคต คนๆนี้ก็ยาว ยืดยาด ยุ่มย่าม เยอะแยะ ก็วุ่นวาย
ใครที่อยู่กับปัจจุบันสร้างปัจจุบันให้ดี เข้าใจให้ได้ว่าอดีตก็ตามเป็นสิ่งที่เราเอามาใช้เรียนรู้ศึกษาเปรียบเทียบได้ แม้จะคิดล่วงหน้าไปในอนาคต ถ้าหากอนาคตนั้นคิดเปรียบเทียบได้ว่าอนาคตควรจะดีอย่างนี้ ดีกว่าอดีต โดยมาทำที่ปัจจุบันให้ได้ตามที่เราคิดว่าจะดีกว่าอดีตจะต้องเป็นอย่างนี้ คุณก็ทำปัจจุบัน มันก็จะเจริญ ก็คืออนาคตก็จะได้ สำเร็จมันก็เป็นผล เกิดๆๆ จริงๆแล้วอนาคตคุณไม่ต้องควรคำนึงถึงเลย คำนึงถึงอดีตเอาไว้เปรียบเทียบ แต่อย่าไปหลงจมอยู่กับอดีตว่ามันจะต้องเป็นเราเป็นของเรามันไม่ใช่ อดีตมันเหมือนอุจจาระออกจากก้นเราไปแล้วก็ยังบอกว่าของเรา เอาอุจจาระมาไว้ที่เรา โง่อะไรหนักนา อุจจาระออกไปจากตัวแล้วยังบอกว่าเป็นของเรานี่แหละคือคนโง่ ใครคือคนที่ทำอย่างนี้คือคนเล่นขี้ เอาขี้มากอบโกยไว้ที่ตน
หากเข้าใจชีวิตแล้วชีวิตมันเหมือนกับอยู่ปลายเข็มในปัจจุบัน แล้วปัจจุบันเราควรทำอะไร ปัจจุบันนี้เราควรจะเป็นประโยชน์ ปัจจุบันนี้เราควรจะขยันพากเพียรในสิ่งที่ดี เรามีอัปปติฏฐัง อนายูหัง เรารู้ว่าควรพักหรือควรเพียร
หากเราทำงานมานานแล้ว โอเวอร์โหลดแล้ว ก็ควรจะพักหรือเราเจ็บป่วยก็ควรพัก ดูถึงเวลาจะต้องนอนพักก็ต้องนอนพัก เราก็รู้ความควร ควรพักควรเพียร
พุทธเจ้าท่านตอบเทวดา ผู้ที่ข้ามโอฆสงสารได้แล้วเป็นคนอย่างไร
เราไม่พักอยู่ (อัปปติฏฐัง) เท่ากับยังเพียรต่อไป
เราไม่เพียรอยู่ (อนายูหัง) เท่ากับพักหรือไม่ต่ออายุอิทธิบาท
เราเป็นผู้ข้ามโอฆสงสารได้แล้ว (โอฆมตรินติ)
เมื่อใดเรายังพักอยู่ (สันติฏฺฐามิ) เมื่อนั้นเรายังจมอยู่โดยแท้
เมื่อใดเรายังเพียรอยู่ (อายูหามิ) เมื่อนั้นเรายังลอยอยู่โดยแท้
เราไม่พัก เราไม่เพียร ข้ามโอฆะได้แล้วอย่างนี้แล ฯ
(พตปฎ. เล่ม 15 ข้อ 2)
เวลากำลังล่วงไป บัดนี้เธอทำอะไรอยู่ จะอยู่เฉยๆทำไม ควรจะไปทำสิ่งที่ควรทำ คนที่มีความสำนึกสำเหนียกสังวรณ์ตนอยู่อย่างนี้เสมอ เวลากำลังจะล่วงไป แต่ละวินาทีกรรมกิริยาของคุณทำอะไรอยู่ สิ่งที่ควรทำมีประโยชน์มีเยอะแยะ สิ่งที่เป็นโทษเราก็ศึกษา อันนี้ไม่ควรทำ เราก็เลิกมา จนมาอยู่กับสังคมที่เขาทำแต่กรรมกิริยาที่มีประโยชน์ เราคิดไม่ออกก็ไม่เป็นไร ทำไปกับพรรคพวกเลย ไม่ต้องคิดเองเลยอยู่กับพวกเรา พวกเราไม่พาทำสิ่งที่เป็นโทษ ก็มีปัญญาว่าอย่างนี้ไม่ควรทำ พวกเราปากโป้งจะตาย รีบเข้าไปห้าม หรือว่าไม่ให้ทำแล้วจะช่วยรักษาป้องกันไม่ให้พวกเราทำสิ่งที่ไม่ดี มันเป็นสังคมที่ครบพร้อมเลย ช่วยกันระมัดระวังในสิ่งที่ดีๆ ช่วยกันทำสิ่งที่ดีให้มากยิ่งขึ้นมาเป็นสังคมที่เจริญ
พูดไปแล้วคนที่เขาไม่ศรัทธาเลื่อมใสก็ต้องขออภัยอย่างยิ่ง เขาจะอ้วกแตกตาย คุยโม้ว่าดี แต่ที่พูดนี้มันดีจริง เอามาพูดสู่ฟัง คนที่ไม่มีอคติในใจเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีจริง มาตรวจสอบมาตรวจตรา ดูได้เลยว่าที่พูดไปนี้เป็นเรื่องเพ้อเจ้อ เป็นเรื่องเล่นหัว ได้แต่คิดเอาทำไม่ได้ ไม่เป็นจริงหรือไม่ ขอรับรองว่าเป็นจริงได้ สำเร็จแล้ว
สื่อธรรมะพ่อครู(ปกิณกะ) ตอน เพลงความซ้ำซากหมายเลข 1-7
เพราะฉะนั้นทุกวันนี้อาตมาสบายเกิดมาในชาตินี้แล้วยังไม่ตายได้ทำงานกุศลสำเร็จแล้ว มีแต่ทำเพิ่มทำเติม ก็เลยมีแต่ซ้ำซากเยอะ อาตมาก็เลยมีเวลาจะขยายความเพลงซ้ำซากให้พวกเราฟัง
อาตมาเขียนเพลงความซ้ำซากไว้ 10 บท
ความซ้ำซาก หมายเลข ๑
ความซ้ำซาก ไม่ใช่ความน่าเบื่อหน่าย (เซ็ง) หรอก!
แต่แท้จริงเป็นการสร้าง “ความปกติ”
และความถาวร มั่นคง สถิตเสถียร
ให้เกิด ให้เป็นขึ้นมา ต่างหาก
ดังนั้น . . . . .
ผู้ไม่พยายามเพียรกระทำความซ้ำซาก
ในสิ่งในเรื่องที่ควรกระทำอย่างยิ่ง
จึงคือ . . . . .
ผู้จะไม่ถึงความสำเร็จกิจนั้นๆ ได้เลย
แล้ว “ความยากลำบาก” ใดๆ
ก็จะเป็น “ความง่าย” สบายเบา
ไม่ได้เป็นอันขาด.
๑๐ ก.ค. ๒๕๒๓
(“แสงสูญ” ฉบับที่ ๑๑/๒๕๒๕ : กีฬาเอ๋ย)
ความซ้ำซาก หมายเลข ๒
ความซ้ำซาก ไม่ใช่ความน่าเบื่อหน่าย (สุดเซ็ง) ดอก !
ไม่เช่นนั้นเราจะยิ่งนอน ก็ยิ่งจะเบื่อการนอน
ยิ่งได้ทรัพย์ ยิ่งจะเบื่อการได้ทรัพย์
ยิ่งได้ยศ ยิ่งจะเบื่อการได้ยศ
ยิ่งได้สรรเสริญ ยิ่งจะเบื่อการได้สรรเสริญ
ยิ่งได้สุข ก็ยิ่งจะเบื่อการได้สุข เป็นแน่แท้
ซึ่งความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่
แต่ “ความมีอารมณ์เบื่อหน่าย”
ในสิ่งที่ “ยิ่งซ้ำซาก ก็ยิ่งทำให้ได้ดี ได้มั่นคง ให้ง่ายเบา” นั้น
มันคือตัว “หน้าโง่” ร้อยเปอร์เซ็นต์ ของเราเองต่างหาก
หรือ ที่แน่แท้จริงก็คือ กิเลสสดๆ
ที่มันกำลังจะมีชัยชนะอย่างกระหยิ่ม นั่นเอง.
๑๐ ก.ค. ๒๕๒๓
(“แสงสูญ” ฉบับที่ ๑๒/๒๕๒๖ : คุณครูเอ๋ย)
ความซ้ำซาก หมายเลข ๓
ความซ้ำซาก ไม่ใช่ความน่าเบื่อหน่าย (แสนเซ็ง) ดอก!
แต่แท้จริงแล้ว . . . .
ยิ่งซ้ำซากเรายิ่งจะกลายเป็นเคยในกิจนั้น
ง่ายในกิจนั้นเป็นที่สุดนั่นต่างหาก
รู้เถิดว่า . . . . . . . .
ถ้าเจ้ากิเลสตัวที่ชื่อว่า “ความเบื่อหน่าย” นี้
มันเข้ามาเยี่ยมกราย ในอารมณ์คุณเมื่อไร
เมื่อนั้นแหละ คือ
คุณกำลังประจัญต่ออุปสรรคตัวเลวร้าย และฤทธิ์มาก
แต่เยียบเย็นและแสนแสบที่สุด
ที่จะทำให้คุณล้มเหลวในกิจนั้นๆ เอาง่ายๆ
กว่าอุปสรรคร้อยแปดอื่นใดทีเดียว !
แท้จริงมันคือ มารลวง
หรือความหน้าโง่ชั่วแวบของเราร้อยเปอร์เซ็นต์ แท้ๆ จริงๆ
ซึ่งคุณอย่าเผลอให้มันอยู่กับเราหลายแวบ เป็นอันขาด
มิฉะนั้น มันจะเกิดเป็นความหน้าโง่ตัวถาวร
อยู่กับเรา พร้อมกับความล้มเหลวอย่างสมบูรณ์
ถ้าคุณแน่ใจว่า กิจนั้นดีแน่แล้ว
เป็นกิจที่น่าได้ น่ามี น่าเป็น อย่างยิ่งแล้ว
อย่าโง่เสียเวลามีอารมณ์เบื่อหน่ายเลย
แม้แต่เสี้ยววินาทีเป็นอันขาด.
๑๐ ก.ค. ๒๕๒๓
(“แสงสูญ” ฉบับที่ ๑๓/๒๕๒๖ : อาหารเอ๋ย ๑)
ความซ้ำซาก หมายเลข ๔
ความซ้ำซาก ไม่ใช่ความน่าเบื่อหน่ายเลย จริงๆ
ไม่เช่นนั้น กลางวันแล้วก็กลางคืนที่ซ้ำซากนี้
จะมีอยู่แล้วๆ เล่าๆ ไม่ได้เป็นอันขาด
ดังนั้น ถ้าคุณแน่ใจว่ากิจนี้ดีแน่แล้ว
เป็นกิจที่น่าได้น่ามีน่าเป็นอย่างที่สุดแล้ว
คุณจงรู้เถิดว่า อารมณ์เบื่อหน่ายที่เกิดขึ้น กับคุณเมื่อใด
นั่นคือ ความล้มเหลวในกิจนั้นของคุณ
กำลังโผล่หน้ามาเยี่ยมกรายคุณ อย่างถึงหน้าบ้าน แล้วทีเดียว
หากคุณไม่ไล่เจ้าตัวอารมณ์นี้ ออกไปจากหน้าบ้าน
อย่างเร็วด่วนให้ได้แล้วละก้อ
ไม่นานเลย
คุณก็จะอยู่กับความล้มเหลว
และ แต่งงานกับเจ้าความเบื่อหน่าย ในกิจนั้น
อย่างสุดรักสุดบูชา
๑๐ ก.ค. ๒๕๒๓
(“แสงสูญ” ฉบับที่ ๑๔/๒๕๒๖ : อาหารเอ๋ย ๒)
ความซ้ำซาก หมายเลข ๕
ความซ้ำซาก ไม่ใช่ความน่าเบื่อหน่ายเลย จริงๆ
ไม่เช่นนั้น คุณจะต้องเป็นทุกข์และ ทรมานมาก
ที่คุณจะต้อง เดิน-ยืน-นั่ง-นอน
หรือต้องกิน ต้องอุจจาระอยู่อย่างซ้ำซากแท้ๆ เหมือนกัน
คุณจะหัดซ้ำซากในอะไร ก็จะได้
คุณจะเลิกไม่ซ้ำซากในอะไร ก็จะได้ เป็นที่สุด
ดังนั้น ถ้ากิจใดคุณแน่ใจว่ากิจนั้นดีแน่แล้ว
เป็นกิจที่น่าได้ น่ามี น่าเป็น
หรือกิจนั้นต้องเป็น ต้องอยู่ ต้องอาศัย อย่างที่สุดแล้ว
คุณอย่าให้มี “ความเบื่อหน่าย”
เกิดมาแทรกคั่นในกิจนั้นๆ เป็นอันขาด
แต่จงมีความร่าเริง “ฉันทะ” กับกิจนั้นๆ เสียเลย
“วิริยะ” พากเพียรเต็มที่ บากบั่น มั่นสู้ไม่ถอย
“จิตตะ” คือเปิดใจ ปล่อยใจ วางใจ ยกหัวใจ
ให้กับกิจนั้นๆ ไปเลย
แล้วก็ “วิมังสา” คือ ลงมือฝึกปรือ ใช้ปัญญา ทำกับกิจนั้น
ให้ดีที่สุดขึ้นเรื่อยๆ ให้ได้เสมอ
ฉะนี้แล คือ ทฤษฎีแห่งความสำเร็จ
ที่จะพ้นทุกข์แท้
และจะสร้างสรรความประเสริฐสุดได้จริง.
๑๑ ก.ค. ๒๕๒๓
(“แสงสูญ” ฉบับที่ ๑๕/๒๕๒๖ : อาหารเอ๋ย ๓)
ความซ้ำซาก หมายเลข ๖
ความซ้ำซาก ไม่ใช่ความน่าเบื่อหน่ายเลยจริงๆ
แต่ตัว “ความเบื่อหน่าย” นั้นแหละ
คือตัว “ทุกข์” แท้ๆ
และคือ ตัวที่จะทำให้ผลักเบนจาก “ความดี”
หรือจาก “ความไม่ดี” กันอย่างสำคัญเลยทีเดียว
ดังนั้น ถ้าใครใช้ปัญญาวิเคราะห์ จนรู้แน่ใจแล้ว
ว่า นี้คือ “ความไม่ดี”
ก็จงตัดขาดหลีกเร้น อย่า “ซ้ำซาก” อยู่
ว่า นี้คือ “ความดี”
ก็จงตัดขาด “ความเบื่อหน่าย” ออกไปให้เด็ดขาด
แล้วจงซ้ำซากอยู่เถิด
จนกว่าเราจะหมดสิ้นเหตุปัจจัย
ผู้ถึงธรรม คือ ผู้ทำกุศลกรรมนั้นๆ
ซ้ำๆ ซากๆ ได้แล้ว สบายๆ ไม่มีเบื่อ
ผู้ยังไม่ถึงธรรม คือ ผู้ทำกุศลกรรมแท้ๆ
ซ้ำซากมากไป ก็จะเบื่อ.
ผู้ยังไม่ถึงธรรม คือ ผู้ทำอกุศลกรรมแท้ๆ
ซ้ำซากมากไป ก็จะไม่เบื่อ.
๑๑ ก.ค. ๒๕๒๓
(“แสงสูญ” ฉบับที่ ๑๖/๒๕๒๗ : การศึกษาเอ๋ย )
ความซ้ำซาก หมายเลข ๗
ความซ้ำซาก ไม่ใช่ความน่าเบื่อหน่ายเลย
แท้จริงนั้น “ความซ้ำซาก” คือ
ความอมตะ คือความนิรันดร์
ข้อสำคัญคือ เราจะซ้ำซากกิจนี้อยู่
เพราะมันยังชื่อว่าดี
ว่าสมควรแล้วอยู่จริง
หรือจะไม่ซ้ำซากกิจนี้ต่อไปแล้ว
เพราะมันชื่อว่า ไม่ดี
ว่าไม่สมควรแล้ว
โดยใช้ปัญญาอันยิ่งแท้
อย่างปราศจากความลำเอียง
และหรือ อย่างไม่มีความเห็นแก่ตัวเลย
ด้วยสัปปุริสธรรม ๗ กันจริง เท่านั้น
ดังนั้น ผู้ถึงธรรมแล้ว
จึงไม่มี “ความเบื่อหน่าย” ในอะไรเลย
และจะไม่ติดแม้ในสิ่งส่วนที่ชื่อว่า
ดียิ่งยอดใดๆ ด้วย
แต่ท่านรู้เป็น-รู้ตาย รู้เกิด-รู้ดับ รู้พัก-รู้เพียร
และท่านตัด-ท่านต่อของท่านได้แน่แท้
เด็ดขาดถึงที่สุดแล้วจริงๆ.
๑๕ ก.ค. ๒๕๒๓
(“แสงสูญ” ฉบับที่ ๑๗/๒๕๒๗ : อาชีพเอ๋ย ๒ )
ยังเหลือหมายเลข 8 9 10 โปรดติดตามฉบับหน้า
สมณะฟ้าไทว่า…พ่อครูประกาศว่าเศรษฐกิจสาธารณโภคีเป็นเศรษฐกิจที่ดีที่สุดในโลก (พ่อครูเติมว่า ในมหาจักรวาล)