650516 รายการ ตุ้ม ตะลุ่ม ตุ้ม ม้ง ครั้งที่ 38 อัมพัฏฐสูตรและกายในกาย ดาวโหลดเอกสารที่ https://docs.google.com/document/d/1DOZJVOI1iuYtuWmZASTMk7FzuxRcyl5u_snZPN51BA4/edit?usp=sharing ดาวน์โหลดเสียงที่ https://drive.google.com/file/d/1vgYGUnm6ET-vw1ESQcN7CD7r2ZpQA5hb/view?usp=sharing และดูวิดีโอได้ที่ https://youtu.be/fdCYPMKxQ2s และ https://fb.watch/d20vDRLWXd/ _สู่แดนธรรม…วันนี้วันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม 2565 ที่บวรราชธานีอโศก รายการที่ผ่านมาพ่อครูได้นำ อัมพัฏฐสูตร มาอ่านให้พวกเราฟัง คนฟังว่าเหมือนเข้าไปอยู่สมัยพุทธกาลเลย พ่อครูว่า…เราได้อ่านมาถึงข้อ 150 แล้ว ซึ่งตอนนี้ อัมพัฏฐมานพกับหมู่คณะเพื่อนฝูง ได้มาพบพระพุทธเจ้า ด้วยอาจารย์ใช้ให้มาทำธุระนิดเดียว แต่อัมพัฏฐะก็มาโต้ตอบกับ พระพุทธเจ้า ในอินเดียถือชั้นวรรณะตระกูลกันอย่างมาก เรื่องราวก็กำลังสืบสาวไปถึงต้นกำเนิดของตระกูล อัมพัฏฐมานพก็มาจากต้นตระกูลกัณหายนะ ส่วนพระพุทธเจ้ามาจากตระกูลศากยวงศ์ พระพุทธเจ้าไล่เรียงตระกูลของ อัมพัฏฐมานพ ว่า ต้นตระกูลเป็นคนใช้ของพระเจ้าอุกกากราช ซึ่งก็คือต้นตระกูลของศากวงศ์ของพระพุทธเจ้านั่นเอง พวกกองเชียร์ลิ่วล้อของอัมพัฏฐมานพ ก็เถียงแทนอัมพัฏฐมานพ มาณพเหล่านั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อัมพัฏฐมาณพมีชาติดี เป็นบุตรผู้มีสกุลเป็นพหูสูตร เจรจาไพเราะ เป็นบัณฑิต และสามารถจะโต้ตอบในคำนี้กับพระโคดมได้ พวกข้าพเจ้าจักนิ่งละ อัมพัฏฐมาณพจงโต้ตอบกับพระโคดมในคำนี้เถิด. [151] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสกะอัมพัฏฐมาณพว่า อัมพัฏฐะ ปัญหา ประกอบด้วยเหตุนี้แล มาถึงเธอเข้าแล้ว ถึงแม้จะไม่ปรารถนา เธอก็ต้องแก้ ถ้าเธอจักไม่แก้ก็ดีจักกลบเกลื่อนด้วยคำอื่นเสียก็ดี จักนิ่งเสียก็ดี หรือจักหลีกไปเสียก็ดี ศีรษะของเธอจักแตกเป็นเจ็ดเสี่ยง ณ ที่นี้แหละ พ่อครูว่า…มีแต่พระพุทธเจ้ากับ อัมพัฏมานพเท่านั้นที่เห็น ก็ เป็นบุคลาธิษฐานว่า เหมือนมียักษ์ พี่กำลังจะจัดการ ถ้าใครไม่ทำตามที่ควรจะทำก็โดนทุกหัวเลย จะเกิดอาการไม่ดีเจ็บปวดปวดร้าวใจ พระพุทธเจ้า ว่าต้องตอบนะ ให้คนอื่นได้รู้ด้วย จะอมพะนำไม่ได้ สู่แดนธรรม… เป็นสภาวะหมดปฏิภาณหรือไม่ครับ พ่อครูว่า… ใช่ด้วย พระพุทธเจ้า จึงไล่ให้แสดงออกว่ายอมแพ้เสียดีๆ ถ้าไม่แสดงออกคนอื่นก็จะไม่ชัดเจนไม่รู้ด้วย จะพูดด้วยภาษาว่าไล่ต้อนก็ได้ อัมพัฏฐะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เธอได้ยินพวกพราหมณ์ผู้เฒ่าผู้แก่ผู้เป็นอาจารย์และปาจารย์เล่ากันมาว่าอย่างไร พวกกัณหายนะเกิดมาจากใครก่อน และใครเป็นบรรพบุรุษของพวกกันหายนะ. เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเช่นนี้แล้ว อัมพัฏฐมาณพได้นิ่งเสีย. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามอัมพัฏฐมาณพแม้เป็นครั้งที่สองว่า อัมพัฏฐะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เธอได้ยินพวกพราหมณ์ผู้เฒ่าผู้แก่ผู้เป็นอาจารย์และเป็นปาจารย์เล่ากันมาว่าอย่างไร พวกกัณหายนะเกิดมาจากใครก่อน และใครเป็นบรรพบุรุษของพวกกัณหายนะ. แม้ครั้งที่สอง อัมพัฏฐมาณพก็ได้นิ่งเสีย. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสกะอัมพัฏฐมาณพว่า อัมพัฏฐะ เธอจงแก้เดี๋ยวนี้ บัดนี้ไม่ใช่เวลาของเธอจะนิ่ง อัมพัฏฐะ เพราะผู้ใดถูกตถาคตถามปัญหาอันประกอบด้วยเหตุถึงสามครั้งแล้วไม่แก้ ศีรษะของผู้นั้นจะแตกเป็นเจ็ดเสี่ยง ณ ที่นี่แหละ. [152] สมัยนั้น ยักษ์วชิรปาณีถือค้อนเหล็กใหญ่ลุกโพลงโชติช่วงยืนอยู่ในอากาศเบื้องบนอัมพัฏฐมาณพ คิดว่า ถ้าอัมพัฏฐมาณพนี้ถูกพระผู้มีพระภาคตรัสถามปัญหาที่ประกอบด้วยเหตุถึงสามครั้งแล้ว แต่ไม่แก้ เราจักต่อยศีรษะของเขาให้แตกเป็นเจ็ดเสี่ยง ณ ที่นี้แหละ. พระผู้มีพระภาคและอัมพัฏฐมาณพเท่านั้นเห็นยักษ์วชิรปาณีนั้น. ครั้งนั้นอัมพัฏฐมาณพตกใจกลัวขนพองสยองเกล้า ทูลขอให้พระผู้มีพระภาคนั่นเองเป็นที่ต้านทาน ทูลขอให้พระผู้มีพระภาคนั่นเองเป็นที่เร้น ทูลขอให้พระผู้มีพระภาคนั่นเองเป็นที่พึ่งกระเถิบเข้าไปนั่งใกล้ๆ แล้วกราบทูลว่า พระโคดมผู้เจริญ ได้ตรัสคำอะไรนั่น ขอพระโคดมผู้เจริญ โปรดตรัสอีกครั้งเถิด. อัมพัฏฐะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เธอได้ยินพวกพราหมณ์ผู้เฒ่าผู้แก่ผู้เป็นอาจารย์และปาจารย์เล่ากันมาว่าอย่างไร พวกกัณหายนะเกิดมาจากใครก่อน และใครเป็นบรรพบุรุษของพวกกัณหายนะ?. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้ยินมาเหมือนอย่างที่พระโคดมผู้เจริญตรัสนั่นแหละพวกกัณหายนะเกิดมาจากกัณหะนั้นก่อน และก็กัณหะนั้นเป็นบรรพบุรุษของพวกกัณหายนะ. [153] เมื่ออัมพัฏฐมาณพกล่าวเช่นนี้แล้ว มาณพเหล่านั้นส่งเสียงอื้ออึงเกรียวกราวว่าท่านผู้เจริญ ได้ยินว่าอัมพัฏฐมาณพมีชาติทราม มิใช่บุตรผู้มีสกุล เป็นลูกทาสีของพวกศากยะ ท่านผู้เจริญ ได้ยินว่าพวกศากยะเป็นโอรสของเจ้านายอัมพัฏฐมาณพ พวกเราไพล่ไปสำคัญเสียว่าพระสมณโคดม ผู้ธรรมวาทีพระองค์เดียว ควรจะถูกรุกรานเสียได้. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงดำริเช่นนี้ว่า มาณพเหล่านี้พากันเหยียดหยามอัมพัฏฐมาณพด้วยวาทะว่า เป็นลูกทาสีหนักนัก ถ้ากระไรเราพึงช่วยปลดเปลื้องให้. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้กะมาณพเหล่านั้นว่า ดูกรมาณพพวกเธออย่าเหยียดหยามอัมพัฏฐมาณพด้วยวาทะว่า เป็นลูกทาสีให้หนักนัก เพราะกัณหะนั้นได้เป็นฤาษีคนสำคัญ เธอไปยังทักษิณาชนบทเรียนมนต์อันประเสริฐ แล้วเข้าไปเฝ้าพระอุกกากราชทูลขอพระราชธิดาพระนามว่ามัททรูปี พระเจ้าอุกกากราชทรงพระพิโรธขัดพระทัยแก่พระฤาษีนั้นว่า บังอาจอย่างนี้เจียวหนอ ฤาษีเป็นลูกทาสีของเราแท้ๆ ยังมาขอธิดาชื่อว่ามัททรูปี แล้วทรงขึ้นพระแสงศร ท้าวเธอไม่อาจจะทรงแผลง และไม่อาจจะทรงลดลง. [154] ดูกรมาณพ ครั้งนั้น หมู่อำมาตย์ราชบริษัทพากันเข้าไปหากัณหฤาษีแล้วได้กล่าว คำนี้กะกัณหฤาษีว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอความสุขสวัสดีจงมีแต่พระราชา ขอความสวัสดีจงมีแด่พระราชา ฤาษีตอบว่า ความสวัสดีจักมีแด่พระราชา แต่ว่าท้าวเธอจักทรงแผลงพระแสงศรลงไปเบื้องต่ำ แผ่นดินจักทรุดตลอดพระราชอาณาเขต อำมาตย์กล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอความสวัสดีจงมีแด่พระราชา ขอความสวัสดีจงมีแก่ชนบท ฤาษีตอบว่า ความสวัสดีจักมีแด่พระราชา ความสวัสดีจักมีแก่ชนบท แต่ถ้าท้าวเธอจักทรงแผลงพระแสงศรขึ้นไปเบื้องบน ฝนจักไม่ตกทั่วพระราชอาณาเขตถึงเจ็ดปี อำมาตย์กล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอความสวัสดีจงมีแด่พระราชา ขอความสวัสดีจงมีแก่ชนบท ขอฝนจงตกเถิด ฤาษีตอบว่า ความสวัสดี จักมีแด่พระราชา ความสวัสดีจักมีแก่ชนบท ฝนจักตก แต่พระราชาต้องทรงวางพระแสงศรไว้ที่พระราชกุมารพระองค์ใหญ่ ด้วยทรงพระดำริว่า พระราชกุมารจักเป็นผู้มีความสวัสดี หายสยดสยองดังนี้. ดูกรมาณพ ลำดับนั้นพระเจ้าอุกกากราช ได้ทรงวางพระแสงศรไว้ที่พระราชกุมารพระองค์ใหญ่ ด้วยทรงพระดำริว่า พระราชกุมารจักเป็นผู้มีความสวัสดี หายสยดสยอง ดังนี้ ครั้นท้าวเธอทรงวางพระแสงศรไว้ที่พระราชกุมารพระองค์ใหญ่แล้ว พระราชกุมารก็เป็นผู้มีความสวัสดี หายสยดสยอง พระเจ้าอุกกากราชทรงกลัวถูกขู่ด้วยพรหมทัณฑ์ จึงได้พระราชทานพระนางมัททรูปีราชธิดาแก่ฤาษีนั้น. ดูกรมาณพ พวกเธออย่าเหยียดหยามอัมพัฏฐมาณพด้วยวาทะว่า เป็นลูกทาสีให้หนัก นักเลย กัณหะนั้นได้เป็นฤาษีสำคัญแล้ว. [155] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะอัมพัฏฐมาณพว่า ดูกรอัมพัฏฐะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ขัตติยกุมารในโลกนี้พึงสำเร็จการอยู่ร่วมกับนางพราหมณกัญญา เพราะอาศัยการอยู่ร่วมกันของคนทั้งสองนั้น พึงเกิดบุตรขึ้น บุตรผู้เกิดแต่นางพราหมณกัญญากับขัตติยกุมารนั้น จะควรได้ที่นั่งหรือน้ำในหมู่พราหมณ์บ้างหรือไม่? ควรได้ พระโคดมผู้เจริญ. พวกพราหมณ์จะควรเชิญเขาให้บริโภคในการเลี้ยงเพื่อผู้ตาย ในการเลี้ยงเพื่อการมงคลในการเลี้ยงเพื่อยัญพิธี หรือในการเลี้ยงเพื่อแขกบ้างหรือไม่? ควรเชิญเขาให้บริโภคได้ พระโคดมผู้เจริญ. พวกพราหมณ์จะควรบอกมนต์ให้เขาหรือไม่? ควรบอกให้ พระโคดมผู้เจริญ. เขาควรจะถูกห้ามในหญิงทั้งหลายหรือไม่? เขาไม่ควรถูกห้ามเลย พระโคดมผู้เจริญ. เขาควรจะได้รับอภิเษกเป็นกษัตริย์ได้บ้างหรือไม่? ข้อนี้ไม่ควรเลย พระโคดมผู้เจริญ. เพราะเหตุอะไร? เพราะเขาไม่บริสุทธิ์ข้างฝ่ายมารดา. [156] ดูกรอัมพัฏฐะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พราหมณกุมารในโลกนี้พึงสำเร็จการอยู่ร่วมกับนางขัตติยกัญญา เพราะอาศัยการอยู่ร่วมของคนทั้งสองนั้นพึงเกิดบุตรขึ้นบุตรผู้เกิดแต่ขัตติยกัญญากับพราหมณกุมาร จะควรได้ที่นั่งหรือน้ำในหมู่พราหมณ์บ้างหรือไม่? ควรได้ พระโคดมผู้เจริญ. พวกพราหมณ์จะควรเชิญเขาให้บริโภคในการเลี้ยงเพื่อผู้ตาย ในการเลี้ยงเพื่อการมงคลในการเลี้ยงเพื่อยัญพิธี หรือในการเลี้ยงเพื่อแขกได้บ้างหรือไม่? ควรเชิญเขาให้บริโภคได้ พระโคดมผู้เจริญ. พวกพราหมณ์ควรบอกมนต์ให้เขาหรือไม่? ควรบอกให้ พระโคดมผู้เจริญ. เขาควรถูกห้ามในหญิงทั้งหลายหรือไม่? เขาไม่ควรถูกห้ามเลย พระโคดมผู้เจริญ. เขาควรจะได้รับอภิเษกเป็นกษัตริย์ได้บ้างหรือไม่? ข้อนี้ไม่ควรเลย พระโคดมผู้เจริญ. เพราะเหตุอะไร? เพราะเขาไม่บริสุทธิ์ฝ่ายบิดา. [157] ดูกรอัมพัฏฐะ เมื่อเทียบหญิงกับหญิงก็ดี เมื่อเทียบชายกับชายก็ดี กษัตริย์พวกเดียวประเสริฐ พวกพราหมณ์เลว ดูกรอัมพัฏฐะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉนพราหมณ์ทั้งหลาย ในโลกนี้ พึงโกนศีรษะพราหมณ์คนหนึ่ง มอมด้วยเถ้า เนรเทศเสียจากแว่นแคว้นหรือจากเมืองเพราะโทษบางอย่าง เขาจะควรได้ที่นั่งหรือน้ำในหมู่พราหมณ์บ้างหรือไม่? ไม่ควรได้เลย พระโคดมผู้เจริญ. พวกพราหมณ์ควรเชิญเขาให้บริโภคในการเลี้ยงเพื่อผู้ตาย ในการเลี้ยงเพื่อการมงคลในการเลี้ยงเพื่อยัญพิธี หรือในการเลี้ยงเพื่อแขกได้บ้างหรือไม่? ไม่ควรเชิญเขาให้บริโภคเลย พระโคดมผู้เจริญ. พวกพราหมณ์ควรบอกมนต์ให้เขาหรือไม่? ไม่ควรบอกให้เลย พระโคดมผู้เจริญ. เขาควรถูกห้ามในหญิงทั้งหลายหรือไม่? เขาควรถูกห้ามทีเดียว พระโคดมผู้เจริญ. [158] อัมพัฏฐะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน กษัตริย์ทั้งหลาย ในโลกนี้พึงปลงเกศากษัตริย์องค์หนึ่ง มอมด้วยเถ้า แล้วเนรเทศเสียจากแว่นแคว้นหรือจากเมืองเพราะโทษบางอย่าง เขาจะควรได้ที่นั่งหรือน้ำในหมู่พราหมณ์บ้างหรือไม่? ควรได้ พระโคดมผู้เจริญ. พวกพราหมณ์ควรเชิญเขาให้บริโภคในการเลี้ยงเพื่อผู้ตาย ในการเลี้ยงเพื่อการมงคลในการเลี้ยงเพื่อยัญพิธี หรือในการเลี้ยงเพื่อแขกได้บ้างหรือไม่? ควรเชิญให้เขาบริโภคได้ พระโคดมผู้เจริญ. พวกพราหมณ์ควรบอกมนต์ให้เขาหรือไม่? ควรบอกให้ พระโคดมผู้เจริญ. เขาควรถูกห้ามในหญิงทั้งหลายหรือไม่? เขาไม่ควรถูกห้ามเลย พระโคดมผู้เจริญ. พ่อครูว่า… อัมพัฏฐะตีกินหมดเลย จะเป็นนักบวชก็เป็น จะแต่งงานก็แต่งได้ ดูกรอัมพัฏฐะ กษัตริย์ย่อมถึงความเป็นผู้เลวอย่างยิ่ง เพราะเหตุที่ถูกกษัตริย์ด้วยกันปลงพระเกศา มอมด้วยเถ้า แล้วเนรเทศเสียจากแว่นแคว้นหรือจากเมือง ดูกรอัมพัฏฐะแม้ในเมื่อกษัตริย์ถึงความเป็นคนเลวอย่างยิ่งเช่นนี้ พวกกษัตริย์ก็ยังประเสริฐ พวกพราหมณ์เลวด้วยประการฉะนี้. สมจริงดังคาถาที่สนังกุมารพรหมได้ภาษิตไว้ ดังนี้ คาถาสนังกุมารพรหม [159] กษัตริย์เป็นผู้ประเสริฐที่สุด ในหมู่ชนผู้รังเกียจด้วยโคตร ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในหมู่เทวดาและมนุษย์. [160] ดูกรอัมพัฏฐะ ก็คาถานี้นั้น สนังกุมารพรหมขับถูกไม่ผิด ภาษิตไว้ถูก ไม่ผิดประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ใช่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ เราเห็นด้วย ดูกรอัมพัฏฐะ ถึงเราก็กล่าวเช่นนี้ว่า [161] กษัตริย์เป็นผู้ประเสริฐที่สุดในหมู่ชนผู้รังเกียจด้วยโคตร ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะเป็นผู้ประเสริฐที่สุด ในหมู่เทวดาและมนุษย์. จบ ภาณวารที่หนึ่ง พ่อครูว่า…สรุปว่า ท่านให้ยึดเอาผู้ที่มีวิชชาและจรณะเป็นผู้ประเสริฐที่สุด อย่าไปยึดเอาความเป็นนักบวชหรือไม่ พระพุทธเจ้าพยายามสรุปให้ฟัง จะถือโคตรถือตระกูลก็ต้องเอาวิชชาและจรณสมบัติเป็นหลัก ผู้ที่สามารถมี จะมีแต่เพียงบทมนต์ท่องจำหรือได้ปฏิบัติจริงในจรณะ 15 วิชชาจรณสัมปทา [162] อัมพัฏฐมาณพทูลถามว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็จรณะนั้นเป็นไฉน วิชชานั้นเป็นไฉน. พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรอัมพัฏฐะ ในวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันเป็นคุณยอดเยี่ยม เขาไม่พูดอ้างชาติอ้างโคตรหรืออ้างมานะว่า ท่านควรแก่เรา หรือท่านไม่ควรแก่เราอาวาหมงคล วิวาหมงคล หรืออาวาหวิวาหมงคล มีในที่ใด ในที่นั้นเขาจึงจะพูดอ้างชาติบ้างอ้างโคตรบ้าง หรืออ้างมานะบ้างว่า ท่านควรแก่เรา หรือท่านไม่ควรแก่เรา ชนเหล่าใดยังเกี่ยวข้องด้วยการอ้างชาติ ยังเกี่ยวข้องด้วยการอ้างโคตร ยังเกี่ยวข้องด้วยการอ้างมานะ หรือยังเกี่ยวข้องด้วยอาวาหวิวาหมงคล ชนเหล่านั้น ชื่อว่ายังห่างไกลจากวิชชาสมบัติ และจรณสมบัติอันเป็นคุณยอดเยี่ยม การทำให้แจ้งซึ่งวิชชาสมบัติและจรณสมบัติ อันเป็นคุณยอดเยี่ยมย่อมมีได้ เพราะละการเกี่ยวข้องด้วยการอ้างชาติ ความเกี่ยวข้องด้วยการอ้างโคตร ความเกี่ยวข้องด้วยการอ้างมานะ และความเกี่ยวข้องด้วยอาวาหวิวาหมงคล. พ่อครูว่า..เหมือนกันกับทุกวันนี้คนไม่เข้าใจการปฏิบัติธรรมแล้วโดยเฉพาะเรื่องกาย เขาไม่นึกว่ากายนี้จะมีจิตเป็นหลัก คำว่ากายมีจิตเป็นใหญ่ กายหมายถึงจิต มโน วิญญาณ แต่ทิ้งข้างนอกไม่ได้อีก เพราะฉะนั้นไปหลับตาก็เป็นโมฆะ เพราะไม่เอาภายนอก พวกหลับตาปฏิบัติโมฆะไปหมดทั้งยวง [163] ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ จรณะนั้นเป็นไฉน วิชชานั้นเป็นไฉนเล่า. ดูกรอัมพัฏฐะ พระตถาคตเสด็จอุบัติในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลกเป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม พระตถาคตพระองค์นั้น ทรงทำโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตามทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง คฤหบดี บุตรคฤหบดี หรือผู้เกิดเฉพาะในตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ย่อมฟังธรรมนั้น ครั้นฟังแล้วได้ศรัทธาในพระตถาคต เมื่อได้ศรัทธาแล้ว ย่อมเห็นตระหนักว่า ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง การที่บุคคลผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์ให้บริสุทธิ์ โดยส่วนเดียวดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย ถ้ากระไร เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกบวชเป็นบรรพชิต สมัยต่อมาเขาละกองโภคสมบัติน้อยใหญ่ ละเครือญาติน้อยใหญ่ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้วสำรวมระวังในพระปาติโมกข์อยู่ ถึงพร้อมด้วยมารยาทและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อยสมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ประกอบด้วยกายกรรมวจีกรรมที่เป็นกุศล มีอาชีพบริสุทธิ์ถึงพร้อมด้วยศีลคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ เป็นผู้สันโดษ. พ่อครูว่า..จบตรง เป็นผู้สันโดษ อาตมาแปลว่า เป็นผู้ใจพอ แต่เขาแปลกันว่า เป็นผู้พอใจในสิ่งที่ตนเองมีอยู่ อาตมาว่าอันนี้คนตีกินได้ ไปถาม เศรษฐีธนินท์ เศรษฐีเจริญ เขาก็พอใจในสมบัติที่เขามีอยู่ เขาจะไม่พอใจได้อย่างไร ร่ำรวยขนาดไหนก็พอใจ แต่สันโดษมีนัยยะสำคัญว่า ให้มามักน้อย น้อยๆ ก็พอ ใจพอ ไม่ต้องไปมีมาก เป็นผู้ชอบน้อยๆ อัปปิจฉะ สันตุฏฐิ อย่างนี้เป็นต้น สรุปแล้ว ที่พระพุทธเจ้าตรัส เป็นกระบวนการเป็นภาษาเป็นบทมนต์ที่รวมไว้ว่าพระพุทธเจ้ามีพุทธคุณ 9 แล้วก็มาประกาศธรรมะ คนอื่นได้รับฟังก็ศรัทธาเลื่อมใส ออกมาบวชตาม แล้วการออกบวชตาม มาปฏิบัติตนเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ ควบคุมทวารทั้ง 6 มีสติสัมปชัญญะจนเป็นผู้มีความสันโดษ ความเป็นผู้สันโดษในความหมายที่มิจฉาทิฏฐิ จะหมายถึงว่าเป็นผู้อยู่คนเดียวไม่เกี่ยวกับจะหมายถึงว่าเป็นผู้อยู่คนเดียวไม่เกี่ยวกับใคร ออกป่า ไม่ช้าไม่นานก็จะได้เป็นพระอรหันต์ นี่เป็นความเข้าใจ เป็น Concept ของชาวพุทธไทยทุกวันนี้ ซึ่งฟังแล้วมันก็โอโห! ตีทิ้ง จรณะ 15 วิชชา 8 เพราะว่าจรณะ 15 วิชชา 8 ไม่ได้หนีไปไหน ไม่ได้ออกไปนอกชีวิตสามัญ ชีวิตสามัญอยู่เต็มๆ แต่ปฏิบัติศีลเป็น อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา อธิมุติ และวิมุติญาณทัสสนะสมบูรณ์แบบ การปฏิบัติหลักใหญ่ที่ท่านสรุปไว้ว่า คือ อปัณณกปฏิปทา 3 ใน จรณะ 15 มีศีลก่อนด้วย แล้วถึงจะค่อยเปิด ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ พหุสัจจะ วิริยะ สติ ปัญญา นี่คือสัทธรรม 7 เกิดสิ่งเหล่านี้แล้ว นับเป็น ฌาน ฌานลืมตา ฌานที่เกิดจาก อปัณณกปฏิปทา 3 ถ้าไม่มี อปัณณกปฏิปทา 3 ก็ไม่ใช่ศาสนาพุทธ เขาฟังแล้วก็ไม่ค่อยสะดุด ไม่ค่อยกระเตื้อง ไม่ค่อยเข้าใจ อาตมาไม่ค่อยเก่งอธิบายหรืออย่างไร ก็ว่าอาตมาอธิบายจนแหลกละเอียดแล้ว สรุปเลย ตีทิ้งเลย นั่งหลับตานั้นไม่ใช่ อปัณณกปฏิปทา 3 อปัณณกปฏิปทา 3 ต้องมีสำรวมอินทรีย์ 6 จะต้องรู้ตาหูจมูกลิ้นกายใจ ในขณะกิน ขณะมีการใช้เครื่องใช้เครื่องกิน ต้องสำรวมระวังรู้รูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส ไม่ใช่ไปหลับตา ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ไม่ใช่ นั่นไม่ใช่ จรณะ 15 วิชชา 8 ไม่ใช่ อปัณณกปฏิปทา 3 มันไม่ใช่คนตื่น มันเป็นคนหลับ ปิดตาก็คือหลับแล้ว จะหลับหรือไม่หลับก็ตาม แต่ปิดตาคือหลับ ไปจากโลกสามัญ เพราะฉะนั้นอย่าไปปิดตา จะหลับหรือไม่หลับก็อย่าไปปิดตา พระอาจารย์อะไรที่อยู่ในพระสูตรพระพุทธเจ้าตรัสไว้ ถามอุตรมานพว่า อาจารย์ของเธอสอนอย่างไร สอนว่า ให้ปิดตาเสียอย่าให้เห็นรูป ปิดหูเสียอย่าให้ได้ยินเสียง พระพุทธเจ้าก็เลยบอกว่า อ้อ สอนให้คนตาบอดหูหนวก มันน่าจะจุกนะ ได้ฟังแล้ว น่าจะมีปฏิภาณไหวพริบเข้าใจได้ ว่าตัวเองไปงมงายอยู่การหลับตาปฏิบัติอย่างไร มันแสดงถึงความเสื่อมศาสนาว่าเข้าใจธรรมะพระพุทธเจ้าไม่ได้กันเลย แม้แต่วิธีปฏิบัติ พูดไป เสร็จแล้วก็ไปตีความ อ่านพระไตรปิฎกแล้วก็ตีความเข้าข้างตัวเอง ว่าจะต้องอานาปานสติ คืออะไร นั่งตั้งกายตรงดำรงสติคงมั่น เขาเข้าใจผิด เดียรถีย์ก็เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าก็มาปลุกให้ตื่น ค่อยๆ ตื่นขึ้นมาให้มีสติปัฏฐาน 4 พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม นะ แล้วก็ค่อยๆรู้กาย รู้เวทนา รู้จิต รู้ธรรมะ แค่ 4 อย่างนี้แหละ เป็นอรหันต์ เพราะเริ่มต้น โลกุตรธรรมข้อแรก สติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 มีอินทรีย์ 5 พละ 5 มีโพชฌงค์ 7 มรรคมีองค์ 8 เรียกว่า โพธิปักขิยธรรม 37 จำง่ายๆว่า 4578 เพื่อความจำ ให้ได้ จำโพธิปักขิยธรรม 37 เรามาพูดถึง สติปัฏฐาน 4 กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม พูดแล้วพูดอีก ผู้ที่มีมานะอัตตาก็จะบอกว่า โพธิรักษ์พูดวนแล้ววนอีก แต่คนที่ บรรลุธรรมเป็นพระอริยะ จะยิ่งซาบซึ้งเข้าใจ เพราะฟังธรรมแล้วฟังดีๆจะได้อานิสงส์ 5 ประการ เพราะอาตมาไม่ได้อธิบายแล้ววนเวียนอยู่ที่เก่าเท่านั้น ใช่ ต้องมีรากฐานต้องมาบอกขึ้นต้น จะขึ้นต้นไม้จะไปปีนขึ้นทางยอดได้อย่างไร มันต้องปีนตั้งแต่ต้น กลาง ปลาย มันก็เป็นธรรมดา ใครกระโดด ตัวเบาเป็นนักกังฟู ขึ้นไปถึงยอดเลย ไม่ต้องขึ้นทางต้น ก็ไม่ใช่อย่างนั้น อันนั้นมันเป็นนิทานนิยายของกิมย้ง โกวเล้งเขา กาย คำเดียวนี่แหละ ยิ่งใหญ่ที่สุด กาย ต้องมีสภาวะ 2 สภาวะเดียวไม่ได้ เพราะฉะนั้นในคนไทยทุกวันนี้ เข้าใจว่ากายมีอย่างเดียวคือสรีระภายนอกเท่านั้น พอบอกว่ากายนี้หมายถึงจิต ไปเน้นตามที่พระพุทธเจ้าท่านเน้นเลย บอกว่า กายนี้ตถาคคตเรียกว่าคือจิต มโน วิญญาณ พระไตรปิฎกเล่ม 16 ข้อ 230 ไม่ได้เน้นกายว่าคือสรีระ ท่านก็พูดผ่านว่ากับสรีระก็พิจารณาบ้าง มันไม่ยากหรอก แต่นี่เขาตัดลัดเข้าไปหาจิตเลย มันซับซ้อน อาตมาก็มาเอาสภาพจริง ที่คนไทย ชาวพุทธไทยไม่พิจารณาข้างนอกเลย ซึ่งข้างนอกนั้นพิจารณาง่ายกว่า ละลดง่ายกว่า แล้วค่อยมาพิจารณาจิต มโน วิญญาณ แต่เขาไม่ได้ทำตามลำดับอย่างนี้เลย ซึ่งทำให้เกิดความเสื่อม ความล้มเหลว เขาใจเร็วด่วนได้ ไปนั่งหลับตาสะกดจิตเอา มันนอกรีต นอกเรื่องศาสนาพระพุทธเจ้าหมด ต้องรู้จักกายภายนอกและพิจารณา เมื่อกระทบสัมผัสด้วยตาหูจมูกลิ้นกาย โผฏฐัพพะ แล้วให้เรียนรู้ผัสสะและเวทนา เมื่อมีผัสสะ มีเวทนาแล้ว เรียนรู้เวทนาแล้วก็แยกแยะให้ออกว่า เวทนานี้คือจิตหรือเจตสิก แยกเจตสิกออกก็มีกิเลสอยู่ คืออาการของจิต อาการของ สราคะ สโทสะ สโมหะ แล้วทำให้หมดไปเรียกว่า วีตราคะ วีตโทสะ วีตโมหะ ปฏิบัติได้แล้วก็จะเกิดเป็น สังขิตฺตํจิตตํ วิกขิตตังจิตตัง ปฏิบัติให้มันเจริญยิ่งใหญ่ขึ้นเป็น มหัคตะ ทำไม่ได้ก็อมหัคตะ ทำได้แล้วจิตก็เจริญขึ้นไปตามลำดับเรียกว่า สอุตระ แต่ดีกว่านี้ยังมีอีก ยังไม่ถึงอนุตตรังจิตตัง จนทำไปจนจิตตั้งมั่นเป็นวิมุตเป็นสมาหิตัง ที่ไม่สมบูรณ์ก็อสมาหิตังหรืออวิมุติ มีปฏิภาณรู้จะมีเจโตปริยญาณ 16 อย่างนี้ เจโตปริยญาณไม่ใช่ไปรู้ใจคนอื่น แต่เป็นอนุสาสนีปาฏิหาริย์ เป็นการรู้สภาวะธรรมในจิตที่มีกิเลสหรือไม่มีกิเลส จะรู้จัก อุปธิ 3 1. รู้กิเลส 2. รู้ขันธ์ 3. รู้อภิสังขาร นี่คืออุปธิ 3 รู้กิเลส แล้วรู้ขันธ์ ใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คือขันธ์ 5 ขันธ์แปลว่ากองหมู่หมวด แล้ว สามารถรู้จักอภิสังขาร สามารถปรุงแต่งสิ่งเหล่านี้ ให้เกิดเป็นบุญ เป็นปุญญาภิสังขาร บุญคือ เครื่องชำระกิเลสให้สะอาดบริสุทธิ์จากสันดานหมดเลย สันตานังปุนาติ วิโสเทติ บุญ ไม่ใช่สิ่งที่จะปีได้มา แต่เป็นอาวุธที่จะฆ่ากิเลส ผู้ใดที่ปราศจากอาวุธ ผู้นั้นมีศีล จะต้องทำตนให้ปราศจากอาวุธให้ได้ ก็คือมีศีลให้ได้ ผู้ที่จะไม่ต้องฆ่าสัตว์ สัตว์โอปปาติกะ ที่เป็นสัตว์นรก สัตว์เดรัจฉานต่างๆในสัตตาวาส 9 ฆ่าสัตว์เหล่านี้ให้ตายด้วยบุญ โอปปาติกสัตว์หรือสัตตาวาส 9 ผู้ที่เรียนรู้ความเป็นสัตว์ทางจิต สัตว์โอปปาติกะ สรุปง่ายๆว่าเป็นสัตว์เดรัจฉานหรือสัตว์นรก เดรัจฉานคือขวางทางนิพพาน สัตว์นรกก็คือตกนรก ที่ไปเรียนรู้เป็นเดรัจฉานเท่านั้นที่ไปขวางทางนิพพาน แล้วก็ไปตกนรกก็เป็นทั้ง 2 อย่าง เรียนกันไม่ชัดเจนสภาวธรรม เมื่อเป็นผู้ชัดเจนในสภาวะธรรมแล้ว ไม่ให้ตกนรกแน่นอน และ ไม่ให้เป็นเดรัจฉานด้วย ไม่ขวางทางนิพพาน ต้องพยายามเรียนรู้กิเลส ลดกิเลสไปได้ตามลำดับ ก็เป็นนิพพาน สอุปาทิเสสนิพพาน เป็นนิพพานไปเรื่อย สอุปาทิเสสนิพพานคือ นิพพานที่ยังเหลือ เหลืออุปธิ เหลือเชื้อวิบาก เชื้อกิเลส เพราะฉะนั้นในคำว่า สอุปาทิเสสนิพพาน จึงแย้งกันได้สองนัย นัยหนึ่ง คือ อุปาธิที่แปลว่าวิบากขันธ์ อันตัณหาเข้าไปยึดไว้แล้ว ทีนี้วิบากขันธ์ของพระอริยะที่เป็น เสขบุคคลก็ตาม ล้างตัณหา ก็เป็นวิบากขันธ์ เป็นผลแก่ขันธ์ ขันธ์ก็สะอาดขึ้น เมื่อขันธ์ ที่ยังอวิชชาก็มีตัณหาเข้าไปยึดถือไว้แล้ว เมื่อล้างตัณหาได้ก็สะอาด ในขันธ์ สะอาดขึ้นก็เป็น วิบากขันธ์ เป็นเสขบุคคล ไปเป็นอเสขบุคคล ไม่เหลือ ขันธ์ทั้งหลายถูกกำจัด กิเลสตัณหาหมดสิ้น เพราะฉะนั้นพระอรหันต์ก็มี อนุปาทิเสสนิพพานธาตุทั้งนั้น เป็นผู้ที่ไม่เหลือธาตุที่เป็นกิเลสตัณหาเลย แต่ทีนี้ พวกที่ลัดๆ ไม่รู้จัก สอุปาทิเสสะ ไม่รู้จักความเป็นเสขบุคคล ไปนั่งหลับตาเข้า จะเอาอรหันต์อย่างเดียว ลำดับโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี อรหันต์ ไม่มี ไปถามพวกนั่งหลับตาลองไล่เรียงให้ฟังซิ โสดาบันที่ลืมตาเป็นๆเป็นอย่างไร สกิทาคามีที่ลืมตาตอนเป็นอย่างไร อยู่กับรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสแล้วเป็นอย่างไร ยังกินหมากปากเปรอะอยู่หรือเปล่า รู้เรื่องเสพติดไหม ติดแค่หมากพลู จะไปเป็นอรหันต์ได้อย่างไร ไม่ได้รู้เลยข้างนอกตาหูจมูกลิ้นกาย เสพติดอะไรที่หยาบๆอยู่ แค่เขาถือเป็นสิ่งเสพติดก็ไม่รู้ นั่งหลับตาปึ๊งปั๋ง สงบ สู้กับกิเลส แล้วกิเลสมันเป็นตัวอย่างไร ก็ไม่รู้ได้ อาการกิเลส มันเกิดเมื่อเวลาสัมผัสทางตาหูจมูกลิ้นกาย อาการราคะก็ตาม อาการโทสะก็ตาม มันเกิดจากอะไร อาการลิงค นิมิต มันเป็นอย่างไร อุเทสมาให้ฟังซิ เขาพูดไม่ได้หรอก บอกอาการ บอกนิมิต บอกเครื่องหมายไม่ได้หรอก ด้วยภาษาคนนี่แหละ อาการ อาตมาพูดได้ อาการกิเลส อาการตัณหาเมื่อกระทบรูป เริ่มต้นทางเสียง กระทบสัตว์ เอาสัตว์เดรัจฉาน สัตว์ปูปลาหมูหมาก็แล้วแต่ กระทบแล้ว โอ้โห มันน่ากิน นั่นแหละไม่รู้จักกิเลสของตน ไปกินเนื้อสัตว์ เป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน เขาจะไม่มีปฏิภาณไม่มีความรู้ที่จะเรียนเรื่องนี้เลย เพราะฉะนั้นจึงเป็นชาวพุทธที่ยังกินเนื้อสัตว์ ปากเปรอะกันหมดเลย กินหมากพลูก็เป็นสิ่งเสพติด กินเนื้อสัตว์ก็เป็นสิ่งเสพติด เพราะฉะนั้น เสพติดหมากพลูรู้ง่าย เสพติดเนื้อสัตว์รู้ยาก เนียนมาก หลงผิดว่า เป็นอาหารของคน นี่คือความเสื่อมของศาสนาพุทธ พระพุทธเจ้าไม่ได้ฉันเนื้อสัตว์ แม้แต่พระเทวทัตก็ไม่ได้ฉันเนื้อสัตว์ พระเทวทัตบอกพระพุทธเจ้าให้ออกกฎระเบียบให้ชัดๆเลย เป็นวินัยเลย บอกว่า พระภิกษุของศาสนาพุทธ ต้องไม่ฉันเนื้อสัตว์ พระพุทธเจ้าบอกว่าไม่ออก เพราะว่า พระส่วนใหญ่ เขาไม่ฉันเนื้อสัตว์อยู่แล้ว แค่เทวทัตเอง ก็ยังไม่ฉันเนื้อสัตว์อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นพระส่วนใหญ่ก็ไม่ฉันเนื้อสัตว์ ยังมีส่วนน้อยก็ปล่อยให้เขาเรียนรู้ไป ท่านไม่เอาแบบบังคับ ถือว่าให้อิสระเสรีภาพสูงสุดดีที่สุดก็ปล่อยให้เป็นไปตามธรรม เพราะส่วนใหญ่เขาไม่ฉันเนื้อสัตว์ ในศาสนาพุทธก็ตาม มีการฉันเนื้อสัตว์อยู่น้อยมาก ไปอ่านดูเถอะ นอกจากพวกอเจลกะหรือพวกนอกศาสนาพุทธไปประเคนอาหารเนื้อสัตว์ให้ภิกษุศาสนาพุทธ เพราะเขาไม่รู้ แล้วไปขี้ตู่ว่าท่านฉัน ก็ไม่เห็นในพระไตรปิฎกบอกว่าฉันเนื้อสัตว์อย่างเอร็ดอร่อย มาเข้าคำว่า กาย คำว่ากายคือสภาพ 2 ภายนอกภายใน ขาดภายนอกไม่ได้ ต้องมีภายนอกกับภายในเสมอ เพราะฉะนั้นผู้เข้าใจคำว่า กาย อย่างไม่สัมมาทิฏฐิ ถือว่า จิตไม่มีภายนอก แล้วปฏิบัติกับจิต ผู้นี้ตกคำว่า กาย เพราะจิตต้องมีกาย ต้องมีภายนอกภายใน จึงจะครบความเป็นบริบูรณ์ความเป็นโลก ความเป็นอัตตา ความเป็นมนุษย์สามัญ ต้องมีจักขุ แล้ว จึงมีปัญญา ญาณ วิชชา อาโลก ต้องมีผัสสะตา หู จมูก ลิ้น กาย โผฏฐัพพะ หมด ต้องมีภายนอก ที่ท่านตรัสว่า จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา อาโลก ที่จริงต้องครบทุกทวารทั้ง 5 จึงจะมีปัญญา มีญาณ มีวิชชา และต้องมีแสงสว่าง มีจักษุแล้วไม่ใช่ไปหลับตา แต่ต้องลืมตาเห็นแสงสว่าง ไม่ต้องหิวแสงแต่เห็นแสง แล้วก็เห็นรูป รู้รส รู้กลิ่น เสียงสัมผัสหมด แล้วปฏิบัติจึงเกิด ปัญญา ญาณ วิชชา กาย พิจารณานอกในแล้ว แล้วจึงจะพิจารณาต่อไปคือ ตัวเวทนา ฟังให้ดีนะต่อเนื่องกันไป พิจารณากายแล้ว มีความรู้เวทนา เอาความรู้สึกมาอ่าน มีสัมผัสมีกายภายนอกภายใน กายในกาย ก็ไม่ขาดภายนอก ตามอภิภายตนะ 8 โอ้โห! โพธิรักษ์อธิบายธรรมะ มันเฟื่องเหลือเกินนะ อภิภายตนะ 8 ข้อที่ 1 นั้น ผู้ที่เป็นอภิภู ถือว่ายิ่งใหญ่นะ คือ ปฏิบัติธรรมที่ยิ่งใหญ่นะ ผู้ปฏิบัติธรรมแบบหลับตานั้น หมดสิทธิ์จะเป็นอภิภู หมดเลย เพราะไม่มีอายตนะ ไม่มีผัสสะ ไม่มีเวทนา หลับตาจึงโมฆะๆๆ จะอธิบายขยายความขนาดไหน ให้เขาฉุกคิด สะดุ้งสะเทือนสำหรับพวกนั่งหลับตา แต่เขาไม่ฟังอาตมา แต่ผู้ที่แสวงหาและไม่มีอคติมากก็ฟัง แล้วสะดุดใจบ้าง แล้วพวกนี้มีหวัง จะเกิดสัมมาทิฏฐิแล้วพัฒนาตนเอง ส่วนพวกที่ตีทิ้งอาตมาไม่ฟังแล้ว ก็จบเห่ จมอยู่ในนรกและเดรัจฉาน 2 คติ ไปไหนไม่ได้ พอมีกายแล้ว จึงจะเรียนรู้เวทนาต่อเนื่องกัน ถ้าคุณไม่เรียนรู้กาย คุณไม่ครบภายนอกภายใน ไม่มีสัจจะ ไม่มีทิฏฐธรรม ทิฏฐธรรม มีปัจจุบันชาติ ความจริงอยู่ที่ปัจจุบันเท่านั้น อดีตไม่ใช่ความจริงเพราะผ่านไปแล้ว อนาคตยังมาไม่ถึงก็ไม่ใช่ความจริง แค่นี้ก็เข้าใจให้ได้ เพราะฉะนั้นคนที่ปฏิบัติธรรมแล้วไม่ได้อยู่กับความจริง ปฏิบัติธรรมอยู่กับอดีตปฏิบัติธรรมอยู่กับอนาคต แล้วคุณจะได้ความจริงอย่างไร เท่านี้ก็เข้าใจให้ได้เถอะ อย่าไปงมงายโง่เง่า เพราะฉะนั้น หลับตา ฟังให้ดีๆ พวกโมฆะบุรุษ เอาหนักนะ เมื่อกายสัมผัสแล้วจึงเกิดเวทนา ขณะที่มีกายด้วย มีเวทนาด้วย เป็นผู้ที่เป็นอภิภู เป็นผู้ที่มีอภิภายตนะ มีทั้งนอกทั้งใน สัมผัสนอกและในก็รู้พร้อมกัน แล้วก็เป็นผู้รู้ รูปภายนอกภายใน สู่แดนธรรม… พวกนั่งหลับตา จะไม่เข้าใจได้ใน อภิภายตนะได้เลย พ่อครูว่า… ดูกรอานนท์ อภิภายตนะ 8 ประการ เหล่านี้แล 8 ประการเป็นไฉน คือ ผู้หนึ่งมีความสำคัญในรูปภายใน เห็นรูปภายนอกที่เล็กซึ่งมีผิวพรรณดีและมีผิวพรรณทราม ครอบงำรูปเหล่านั้นแล้ว มีความสำคัญอย่างนี้ว่า เรารู้เราเห็น อันนี้ เป็นอภิภายตนะข้อที่ 1 ฯ ผู้หนึ่งมีความสำคัญในรูปภายใน เห็นรูปภายนอกที่ใหญ่ ซึ่งมีผิวพรรณดี และมีผิวพรรณทราม ครอบงำรูปเหล่านั้นแล้วมีความสำคัญอย่างนี้ว่า เรารู้ เราเห็น อันนี้ เป็นอภิภายตนะข้อที่ 2 ฯ พ่อครูว่า… คำว่าครอบงำคือเป็นผู้ที่มีอิทธิพลเหนือ สามารถควบคุม ดูแล จัดการภายนอกภายในทั้งจิตทั้งกาย สามารถอยู่เหนือหรือควบคุมจัดการได้ ผู้หนึ่งมีความสำคัญในอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกที่เล็ก ซึ่งมีผิวพรรณดี และมีผิวพรรณทราม ครอบงำรูปเหล่านั้นแล้ว มีความสำคัญอย่างนี้ว่า เรารู้ เราเห็น อันนี้ เป็นอภิภายตนะข้อที่ 3 ฯ พ่อครูว่า… รายละเอียดของอภิภายตนะ 8 คือรายละเอียดของผู้ที่มีความรู้ความสามารถมากที่เป็นอภิภู เป็นผู้ยิ่งใหญ่ เป็นผู้ศึกษาธรรมะแล้วถึงขั้นนี้ เป็นผู้ที่มีความสามารถที่จะครอบงำ ที่จริงแล้วสามารถที่จะมีปัญญา มีภูมิธรรมความรู้ จัดการสิ่งเหล่านี้ได้เพราะว่ามีอิทธิพลอยู่เหนือ สิ่งเหล่านี้คือตัวเราทั้งนั้น คือจิตของพวกเรา จิตเจตสิกเกี่ยวข้องกันเสมอ มีความสามารถจัดการสิ่งเหล่านั้นโดยมีอิทธิพลเหนือ อุตระ เอกอุตระหรือเอกอุดม มีความสามารถขนาดนั้น สู่แดนธรรม… สรุปจบ Category: ศาสนาBy Samanasandin16 พฤษภาคม 2022Tags: พุทธศาสนาตามภูมิวิถีอาริยธรรม Author: Samanasandin https://boonniyom.net Post navigationPreviousPrevious post:650515 พ่อครูเทศน์กัณฑ์พิเศษ เนื่องในวันวิสาขบูชา พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสรู้วันเพ็ญเดือน 6NextNext post:ฉบับที่ ๕๓๑(๕๕๓) นสพ.ข่าวอโศก ฉบับปักษ์แรก พฤษภาคม ๒๕๖๕Related Posts150401 จะพึ่งอะไรดี-พ่อท่าน-วัดมหาธาตุ28 พฤษภาคม 2024141026 จูฬสุญญตสูตร ตอนที่ 2-พ่อท่าน-วัดธาตุทอง7 พฤษภาคม 2024141026 จูฬสุญญตสูตร ตอนที่ 1-พ่อท่าน-วัดธาตุทอง4 พฤษภาคม 2024670224 พ่อครูเทศน์เวียนธรรมมาฆบูชา งานพุทธาภิเษกฯ ครั้งที่ 48 ราชธานีอโศก24 กุมภาพันธ์ 2024670126 ตอบปัญหาเพื่อละอวิชชา 8 พุทธศาสนาตามภูมิ ราชธานีอโศก26 มกราคม 2024670117 ปฏิจจสมุปบาท ตอน 4 พุทธศาสนาตามภูมิ ราชธานีอโศก17 มกราคม 2024