สัมมาพัฒนา : สันติอโศก ขบวนการพุทธปฏิรูปแห่งประเทศไทย
จูลิอานา เอสเซน เขียน
ประถมศึกษา และมัธยมศึกษาของอโศก
กลุ่มอโศก สนับสนุน การพัฒนาปัจเจกบุคคล ในวัยเด็ก โดยใช้ระบบการศึกษาของอโศกเอง ความเป็นมา เริ่มต้นที่ “โรงเรียน วันอาทิตย์” สำหรับลูกๆ ของสมาชิกอโศก และพัฒนามาเป็นทางการ เมื่อกระทรวงศึกษาธิการ รับรองวิทยาฐานะ ให้เป็น “การศึกษานอกโรงเรียน” (คนอเมริกัน อาจเรียก “โฮมสกูลลิ่ง” หรือระบบการศึกษาที่บ้าน) ปัจจุบัน ศีรษะอโศก มีนักเรียน ๒๐๐ กว่า ตั้งแต่ชั้นประถม ๑ ถึงมัธยม ๖ (เกรด ๑๒) โรงเรียนเปิดสอนสัปดาห์ละ ๕ วัน ศุกร์ถึงอังคาร ครูมาจาก สมาชิก ที่อยู่ในชุมชน ศีรษะอโศก และอาสาสมัครจากในเมือง ซึ่งมาสอนที่อโศก ในวันเสาร์-อาทิตย์
แรงจูงใจสำหรับการศึกษาของอโศก
ขณะที่จำนวนเด็กในวัยเรียน ของชุมชนเพิ่มขึ้น อดีตครูอาจารย์ ที่อยู่ในศีรษะอโศก เสนอว่า ชุมชนควรบริหาร การศึกษาของชุมชนเอง เพราะเหตุหลายประการเช่น
-
ระบบการศึกษาที่มีอยู่ ของกระทรวงศึกษาธิการ ไม่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน
-
ระบบการศึกษาที่มีอยู่ “ขโมย” เด็ก ซึ่งกำลังพัฒนา ที่จะเป็นแรงสำคัญ ของชุมชนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กที่เฉลียวฉลาด
-
ระบบการศึกษาที่มีอยู่ ไม่ได้สอนเด็ก ให้มีความชำนิชำนาญ ในด้านใดเลย นอกจาก ทำให้เด็ก “หัวโตแต่มือลีบ”
นี่เป็นเหตุผลเบื้องต้น ของการสถาปนา ระบบการศึกษาของศีรษะอโศก สมาชิกบางคน ให้เหตุผลเพิ่มเติม เช่น
อาแก่นฟ้า ซึ่งก่อนจะมา ร่วมเป็นสมาชิกอโศก เคยทำงานเป็นวิศวกร มีความเป็นอยู่อย่างฟุ่มเฟือย ใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย เขาอธิบายว่า
ระบบการศึกษาของศีรษะอโศก ประสงค์จะให้การศึกษาแก่เด็ก ในวิถีชีวิตในแนวใหม่
ข้อสำคัญคือ เราต้องการให้เด็กมีทางเลือก ในการดำเนินชีวิตในสังคม เพราะว่า เด็กเกิดมาในสังคม ที่มีค่านิยม แบบหนึ่งแบบใด โดยเฉพาะ เด็กไม่เคยเห็นอะไร นอกเหนือไปจากนั้น เช่น สังคมนิยม ว่าเด็กจะต้องเรียนหนังสือสูงๆ โตขึ้นจะหาเงินได้เยอะแยะ เป็นเจ้าของกิจการต่าง ๆ ที่จะสร้างความมั่งคั่งให้แก่ตน ค่านิยมแบบนี้ ถูกสั่งสอนกันมา ในระบบการศึกษา แบบเก่า แต่เรามาคิดว่า เราควรจัดการสอน ให้เด็กรู้จักการยังชีพ ด้วยวิธีใหม่ แทนที่จะมุ่งไปที่ การเรียน การทำงาน หางานเบาๆ ทำเงินมากๆ หรือได้เงินโดยไม่ต้องทำงาน เราเปลี่ยนค่านิยมของสังคมเสียใหม่ โดยแสดงให้เห็นความจริง ว่ามนุษย์เกิดมา เพื่อทำงาน ทำงานและเสียสละให้สังคม ให้เพื่อนๆ สิ่งดีงามสำหรับมนุษย์ คือสามารถทำงาน สามารถช่วยตัวเอง ไม่เป็นภาระของสังคม และสามารถช่วยสังคม นี่คือ วัตถุประสงค์ของการศึกษา ของศีรษะอโศก
พ่อแม่หลายคน ส่งลูกเรียน ที่โรงเรียนศีรษะอโศก เพราะเขาเชื่อว่า สิ่งแวดล้อมที่นั่น จะช่วยทำให้ลูกของเขา เป็นคนดี
อาพลีขวัญ: ฉันมีลูกสาว และเขาต้องไปโรงเรียนในเมือง ฉันต้องอยู่เฝ้าร้านที่นี่ ฉันกระวนกระวายใจ เพราะไม่รู้ว่า ลูกจะไปถึงโรงเรียนหรือไม่ เขาจะคบเพื่อนประเภทไหน เขาจะคบเพื่อน ที่พากันหนีออกไปนอกโรงเรียน ไปใช้ยาบ้า ดูหนังลามกหรือไม่ นี่เป็นความกังวลใจ ของผู้เป็นแม่… แต่นี่ ที่ศีรษะอโศก เขาว่า เขามีบ้านวัดและโรงเรียนอยู่ด้วยกัน และเขาปฏิบัติธรรม ฉันเป็นคนชอบไปวัด แต่วัดข้างนอก รับแต่ผู้ใหญ่ ไม่รับเด็ก ฉันคิดว่า น่าจะมีที่ไหนสักแห่ง ที่มีทั้งวัดและโรงเรียน อยู่ด้วยกัน ฉันพบแล้ว ที่นี่
อาเจนจบ: ฉันมีลูกชาย ฉันรู้สึกว่า ฉันไม่ไว้วางใจ สังคมภายนอกเลย ฉันกลัวว่า ลูกชายของฉัน จะรับเอาสิ่งแวดล้อม หรือการศึกษา ในสิ่งที่สังคมกำลังเห่อ ซึ่งไม่สมควรที่จะเอาอย่าง ฉันเห็นเด็กเยอะแยะ ที่ไม่รู้จักช่วยพ่อแม่ ตกเย็น เขาจะดูแต่ การแข่งขันฟุตบอล แทนที่จะช่วยตักน้ำ หรือหุงข้าว เขาจะเล่นฟุตบอล ฉันไม่ต้องการให้ลูกของฉัน เป็นอย่างนั้น
หลักสูตร
คณะกรรมการ การศึกษาศีรษะอโศก ได้ก่อตั้งโรงเรียนต้นแบบขึ้น ต่อมา ชุมชนอื่นๆ ในเครือข่ายอโศก ลอกแบบตาม หลักสูตรของ โรงเรียนอโศก ประกอบด้วย ๒๐% จากกระทรวงศึกษาธิการ และ ๘๐% เป็นหลักสูตรที่ คณะกรรมการ คิดขึ้นเอง มีพระสงฆ์รับรอง และผ่านมติของชุมชน โรงเรียนใช้ข้อสอบ “การศึกษานอกโรงเรียน” ของกระทรวงศึกษา ฯ เพื่อให้นักเรียน มีมาตรฐานการศึกษา ระดับเดียวกับนักเรียน ในโรงเรียนของรัฐ การศึกษาของอโศกเน้น การมีศีลธรรมอันดี ความสามารถ ในการงาน และ ความรอบรู้ ในวิชาการ เพื่อให้จำง่าย โรงเรียนผูกคติพจน์ ศีลเด่น เป็นงาน และ ชาญวิชา
ศีลธรรม เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ของการศึกษา นักเรียนเรียนศีลธรรม โดยการปฏิบัติศีล ๕ เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ รวมทั้งการฟังธรรม และการเรียนศีลธรรม ในชั้นที่พระสอน นอกจากนี้ ก็มีการตรวจสอบศีล เป็นประจำ ทุกสัปดาห์ และการรักษากฎเกณฑ์ ที่ช่วยให้นักเรียนไม่ผิดศีล เช่น “ห้ามนักเรียนหญิง และนักเรียนชาย พบกัน ในเวลาค่ำมืด”
เมื่อนักเรียนละเมิด หรือทำผิดศีล การลงโทษ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และลักษณะของการกระทำ ผู้กระทำความผิด อาจได้รับการตักเตือน หรือเสียสิทธิ์ การใช้รถจักรยาน ถ้าทำผิดซ้ำ อาจถูกขอร้อง ให้ออกไปเสียจากชุมชน
ผู้เขียนเล่าว่า ในระหว่างที่เธอ อยู่ที่ศีรษะอโศก มีกรณีย์หนึ่ง ซึ่งเด็กชาย อายุ ๑๕ ปี พบกับเด็กหญิง ในเวลากลางคืน เรื่องนี้ถูกไต่สวน และพิพากษาให้ลงโทษ ด้วยการเฆี่ยนตี ต่อหน้าที่ประชุม นักเรียนทั้งหมด พระสงฆ์ และสมาชิกชุมนุม มากันพร้อมหน้า อาเปิ้ม เป็นคนลงอาญา ก่อนลงโทษ อาเปิ้มอธิบาย ให้นักเรียนทั้งหมดฟัง ถึงความผิด การคำนึงถึง ความปลอดภัย และ สวัสดิการของนักเรียน ท่านยุทธ เสริมว่า ความผิดครั้งนี้ เกิดขึ้นจากความโง่เขลา เบาปัญญา สมควรที่จะแก้ไข ด้วยการเฆี่ยนตี อาเปิ้มบอกนักเรียนด้วยว่า เด็กหญิงเท่านั้น ที่ได้รับโทษ เพราะเด็กชาย ได้ออกจาก ชุมชนไปแล้ว ด้วยความสมัครใจ – ไม่มีใครขอร้องให้เขาออก ขณะที่อาเปิ้ม และเด็กหญิง ยืนอยู่หน้าที่ประชุม อาเปิ้มพูด “เราไม่ต้องการ เฆี่ยนตีใคร แต่ฉันทำด้วยความรัก ไม่ใช่โกรธ เหมือนแม่ ที่ตีลูกสาวที่ทำผิด” ครั้นแล้ว อาเปิ้ม หวดลงไป บนก้นเด็ก ด้วยเรียวไม้ไผ่ ๓ ที เด็กหญิงไม่สะดุ้ง หรือร้อง แม้แต่น้อย หลังจากนั้น ทั้งอาเปิ้มและเด็กหญิง คุกเข่าลง ยกมือไหว้กันและกัน สรวมกอดกัน เป็นอันเสร็จพิธี
วันต่อมา ท่านยุทธ ถามผู้เขียนว่า เข้าใจเกี่ยวกับการเฆี่ยนตีหรือไม่ และอยากทราบ ความคิดเห็นของผู้เขียน แต่ผู้เขียนตอบว่า ในฐานะ นักมานุษยวิทยา ไม่ควรตัดสิน ว่าอะไรผิดหรือถูก ท่านยุทธก็ยังขอร้องอีก ผู้เขียนจึงตอบว่า
มันแล้วแต่… ถ้าใครเชื่อว่า การกระทำ – การเฆี่ยนตี หรืออย่างอื่น- จะทำให้เกิดผลดีที่สุด เขาก็ควรทำ ฉันอยากจะตั้ง ข้อสังเกตว่า ดูเหมือน มันจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะว่าการลงโทษ กระทำไปด้วยความรัก ไม่มีใครติเตียน และนักเรียน ก็ดูเหมือน จะไม่ตกใจกลัว ไม่เจ็บด้วย ความจริง ฉันเอง อดสงสัยไม่ได้ ว่าการลงโทษเช่นนั้น จะได้ผลหรือ
อีกกรณีย์หนึ่ง ผู้เขียนรายงานว่า
ฉันดูการเรียนศีลธรรม และการเสียสละของนักเรียน ชั้นประถม ๒ ฉันคุยอยู่กับครูใหญ่พ่อไพฑูรย์ และนักเรียนกำลังวาดรูป เด็กชายคนหนึ่ง และเด็กหญิงคนหนึ่ง วาดรูปเสร็จพร้อมกัน ต่างวิ่งแข่งกันมาส่งงาน ผลักกันไปมา เพื่อแย่งกันเป็นคนแรก พ่อไพฑูรย์ สั่งให้เด็กทั้งสอง กลับไปนั่งที่โต๊ะของตัว ตามเดิม แล้วเข้ามาหาครูใหม่ หลังจากถูกสั่ง ให้กลับไป ๓ ครั้ง เด็กทั้งสอง ก็ยังคงแข่งกันอยู่นั่นเอง พ่อไพฑูรย์ถาม “ใครอยากจะเสียสละ ให้คนอื่นไปก่อน” ไม่มีใครตอบ พ่อไพฑูรย์ จึงชี้มือให้เด็กชาย เป็นผู้เสียสละ เด็กชายรับอย่างไม่พอใจ พ่อไพฑูรย์บอกฉันว่า เด็กคนนี้ “ดุอย่างกะหมา” ชอบตีเพื่อน และชอบแข่งขัน เด็กผู้หญิง ส่งงานให้ครู ภาพของเธอ เป็นภาพผู้ชายผู้หญิงและเด็ก ยืนอยู่หน้าบ้านในป่า เธออธิบายว่า ครอบครัวกำลังไปบ้าน ซึ่งอยู่ในป่า พ่อไพฑูรย์ ให้เธอได้คะแนนเต็ม ๒๐/๒๐ ส่วนเด็กผู้ชาย วาดรูปคน ๒ คน กำลังยิงกัน และเฮลิคอปเตอร์ กำลังทิ้งระเบิด พ่อไพฑูรย์บอกว่า วาดรูปคนฆ่ากัน ไม่ดี และให้คะแนน ๑๒/๒๐ เพราะเป็นเรื่องไม่ดี และบอกเด็กว่า การฆ่าฟันกัน ผิดศีล ข้อที่ ๑
การฝึกอาชีพ เป็นส่วนประกอบอย่างหนึ่ง ของหลักสูตร มีความสำคัญ เป็นอันดับ ๒ รองจากศีล หลักสูตรของศีรษะอโศก รวมการฝึกอาชีพ ๓๕% สมาชิกศีรษะอโศก เห็นว่า ประสบการณ์การทำงาน เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นการเตรียมตัวนักเรียน ให้พึ่งตัวเอง เมื่อโตขึ้น เขาพากันตำหนิการศึกษา ในโรงเรียนรัฐบาล ว่าเด็กขาดประสบการณ์ ในทางปฏิบัติ เด็กที่จบออกมา ทำอะไรไม่เป็น เพราะการเรียน จากหนังสืออย่างเดียว ไม่ทำให้เด็กมีประสบการณ์เพียงพอ และการกำหนดวันไปโรงเรียน ทำให้เด็ก ไม่สามารถช่วยพ่อแม่ทำนา หรือทำธุรกิจได้ สมาชิกอโศก ต่างพากันสรรเสริญ หลักสูตรของเขา
อารัตนา: ฉันเห็นด้วยกับการเรียนแบบนี้ มันช่วยให้เด็กสามารถทำงานเป็น ปลูกผักเป็น กินและหุงหาอาหารเป็น พึ่งตัวเองได้ ฉันเห็นว่าวิธีนี้ จะทำให้ประเทศไทยก้าวหน้า ถ้าเราทำอย่างนี้กันมากๆ
แม่ปรานี: ฉันคิดว่า เป็นการสร้างหลักฐานชีวิต ของคนโดยตรง เราศึกษาเพื่อจะใช้วิชา ช่วยชีวิตของเรา นักเรียนที่นี่ เรียนและสามารถทำงาน ไม่ว่างานของตัว หรืองานที่ทำร่วมกับคนอื่น เขาจะมีสมรรถภาพ และคุณภาพ นักเรียนที่นี่ สามารถออกไป ทำงานตามลำพัง –เขาสามารถทำงานของเขาเองได้ เขาทำอะไรก็ได้ การค้าขาย การตลาด กสิกรรม… เขาสามารถทำได้ด้วยตัวเอง เพราะว่าเขาฝึกมา เพราะว่าเขาเรียน โดยการกระทำ เขาเรียนแล้ว เขาต้องฝึกฝน จนกระทั่ง เขาสามารถทำได้ เขาจึงจะผ่าน
นักเรียนทุกคนทำงาน ตามฐานงานที่เลือก สัปดาห์ละ ๕ วัน อย่างน้อย วันละ ๒ ชั่วโมง ฐานงาน มีให้เลือกหลายอย่าง เช่น การเพาะเลี้ยงเห็ด การก่อสร้าง การผลิตยาธรรมชาติ นักเรียนแต่ละคน เลือกสมัครได้ ๓ อย่าง ผู้ประสานงาน จะจัดให้นักเรียน ทำงานตามฐาน ที่มีที่ว่าง และผลงานในอดีต ผู้ใหญ่ ซึ่งคอยดูแล จะให้การวัดผล อาทิตย์ละครั้ง ถ้านักเรียนคนใด ได้รับคะแนนติดลบ ๒-๓ ครั้ง เช่น มาสาย ขี้เกียจ ไม่เอาใจใส่งาน จะถูกย้าย ไปทำงานในฐานงานอื่น
สมาชิกบางคน เช่น อาอ้าย มีความกังวลว่า เด็กจะทำงานมากเกินไป จนไม่มีเวลาเป็นเด็ก แต่ผู้เขียนเห็นว่า “เด็กก็ยังเป็นเด็ก อยู่นั่นเอง” เช่น นักเรียนหญิงคนหนึ่ง หลับในโรงทำแชมพู นักเรียน ๒ คน อ่านหนังสือ แทนที่จะเพาะถั่วงอก เด็กชายกลุ่มหนึ่ง กระโดดโลดเต้นบนกองฟาง แทนที่จะทำสวนครัว อย่างไรก็ตาม วัตถุประสงค์ของการศึกษา ที่ศีรษะอโศก ไม่ใช่บังคับให้เด็กทำงาน แต่จะสอนทักษะการดำรงชีวิต แก่ผู้ที่ต้องการเรียน
วิชาการ เป็นส่วนประกอบ ส่วนที่ ๓ ของหลักสูตร รัฐเป็นผู้กำหนดวิชาการ ซึ่งมีภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ หลักสูตรของศีรษะอโศก ครอบคลุมวิชาการ ๒๕%
นักเรียนที่อโศก เรียนวิชาการ เช่นเดียวกับนักเรียนไทย ในโรงเรียนรัฐบาล แต่นักการศึกษาที่อโศก ทำวิชาการเหล่านี้ ให้เข้ากับชีวิตและการงาน เช่น การเรียนวิทยาศาสตร์ แทนที่จะเรียนในห้องปฏิบัติการ ในตัวตึกแห่งเดียว แต่เรียนในสิ่งแวดล้อมด้วย เช่นในสวนผัก นักเรียนอาจสำรวจ การงอกของพืช การอาศัยซึ่งกันและกัน ระหว่างพืชกับสัตว์ เรียนภูมิอากาศ เรียนรู้ว่า การเปลี่ยนแปลงของอากาศ มีผลต่อการกสิกรรมอย่างไร ภาษาอังกฤษ ก็อาจเรียนในสวนผัก ได้เหมือนกัน นักเรียนอาจฝึก เรียกชื่อ และเขียนชื่อผัก ปุ๋ย และสาร ที่พืชต้องการ เป็นภาษาอังกฤษ
สมาชิกบางคน ให้ข้อสังเกต เกี่ยวกับการเรียน การสอน ดังนี้
อาเจนจบ: ไม่ถูก ที่เรียกการอ่านหนังสือว่า การศึกษา และเรียก การทำงานว่า ทำงาน… ที่นี่ นักเรียนฝึกฝนวิชาการ จากสิ่งที่เขามองเห็น ผมคิดว่า ทำอย่างนี้ เป็นการดีมาก
อาเปิ้ม: ฉันคิดว่าการศึกษา ช่วยให้มนุษย์สามารถคิด สามารถแก้ปัญหา แต่การศึกษาโดยทั่วไป มีแต่เรียน โดยการท่องจำ ท่องจำสิ่งที่คนอื่นเขียนไว้ บางทีท่องไป โดยไม่เข้าใจ แต่เขาคิดว่า เรียนอย่างนั้นถูกต้อง เรียนในห้องเรียน สบาย นั่งอ่าน นั่งจด แต่เรียนจริง ๆ อย่างที่นักเรียนที่นี่เรียน ไม่ใช่ของง่ายนัก – จักต้องใช้ความคิด และความสามารถจริง ๆ ฉันคิดว่า การศึกษา ควรจะต้องเรียน ด้วยการกระทำ
ผู้เขียนสังเกตจากภายนอก และจากการช่วยสอน ภาษาอังกฤษ เธอเห็นว่า การสอนใน “ห้องทดลอง ตามธรรมชาติ” ได้ผลดี แต่รู้สึกว่าลำบาก ในการควบคุมชั้น เพราะเด็ก ไม่ได้นั่งประจำอยู่กับที่
สมาชิกส่วนใหญ่พอใจ ระบบการศึกษาของอโศก แต่อาศิริวรรณ และสามีของเธออาวิชัย มีความเห็นว่า หลักสูตรของอโศก เน้นวิชาการ หรือ ความรู้ภายนอกน้อยไป ทั้งสองกังวลว่า ชิม ลูกชายของเขา จะล้าหลังเพื่อนๆ นอกอโศก ในวิชาภาษาอังกฤษ และเขาเกรงว่า ถ้าเด็กไม่มีโอกาส รับความรู้ จากโลกภายนอก ไม่ได้ใช้เทคโนโลยี เช่น คอมพิวเตอร์ เด็กจะด้อยโอกาส ในการศึกษา ระดับปริญญา และมีโอกาส เลือกอาชีพน้อยลง อาศิริวรรณชี้ให้เห็นว่า คนที่มีภูมิหลังจากชนบท และในเมือง อาจมีจุดมุ่งหมาย ในการเลี้ยงชีพต่างกัน
เขาไม่ต้องการ คนอาชีพอื่น นอกจาก ๓ อาชีพกู้ชาติ … ถ้าจะเรียนวิศวฯ คุณต้องมีความรู้พื้นฐาน จะศึกษาวิชาแพทย์ คุณต้องมีความรู้ในสาขานั้น –ฉันไม่รู้ว่ามีอะไรบ้าง แต่คุณต้องเรียนหนัก มันไม่ถูก ที่จะมีแต่ขุดดิน แบกของ ผสมปุ๋ย แยกขยะ. … ถ้าเขาต้องการอาชีพอื่น เขาต้องสะสมความรู้ ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ จะไม่ต้องลำบากภายหลัง… แต่ถ้าเขาต้องการเป็นคนขุดดิน ก็ไม่เป็นไร
การฝึกวัฒนธรรมไทย
นอกจากเรียนศีลธรรม ทำงาน และเรียนวิชาการ นักเรียนที่ศีรษะอโศก จะต้องฝึกฝน กิริยามารยาท ตามแบบวัฒนธรรมไทย ในการสัมมนาบุคคลภายนอก ที่ศีรษะอโศก ผู้ร่วมสัมมนา มักได้ยินคำพูด “เราเป็นหมู่บ้านวัฒนธรรม ถ้าวัฒนธรรมของเราไม่ดี เด็กจะมองเห็น และเอาอย่าง” ผู้เขียนบอกว่า วัฒนธรรมดี หมายถึง การเป็นคนเรียบร้อย เช่น แต่งตัวเรียบร้อย มีมารยาท ในการรับประทานอาหาร ไม่เดินข้ามอาหาร ดื่มน้ำขณะที่นั่งอยู่ แสดงความเคารพต่อผู้ใหญ่ ด้วยการไหว้ ปัดกวาดที่อยู่ ให้สะอาด จัดเข้าของ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ตัวอย่างการฝึกความเรียบร้อย เช่น เวลานักเรียนเข้าแถว ก่อนเข้าห้องเรียน ในตอนเช้า ซึ่งกระทำกันทั่วประเทศไทย ที่ศีรษะอโศก นักเรียนเข้าแถวตรง ยืนตามลำดับไหล่ ผมเผ้าและเสื้อผ้า ต้องเรียบร้อย นักเรียนร้องเพลงชาติ เพลงประจำอโศก และฟังคำสอน
ผู้เขียนบอกว่า ขณะที่นั่งดูเด็กเข้าแถว อาอ้าย ปรารภว่า
เขาฝึกเด็ก ให้ทำตามผู้นำมากเกินไป เด็กไม่ได้ทำตามตัวเอง ผู้ใหญ่ ตั้งตารางเวลาให้ เขาตื่นขึ้นมา ทำนั่นทำนี่ เขาต้องเข้าเรียน เวลา ๙.๐๐ น. มีน้อยสิ่งน้อยอย่าง ที่เขาตัดสินใจด้วยตัวเอง… เขาทำตาม ที่ผู้นำบอก ดังนั้น เมื่อเขาโตขึ้น เมื่อเขาออกไปจากที่นี่ ผู้นำอาจเป็นไอเอ็มเอฟ หรือ นักการเมืองเลวๆ แต่เขาต้องทำตาม เพราะว่าเขาเรียน ที่จะทำตาม มีชายคนหนึ่ง มิสเตอร์ไพฑูรย์ (ครูใหญ่) บอกว่า ก่อนที่คุณ จะอนุญาต ให้เขาคิด คุณต้องอนุญาต ให้เขาทำด้วยตัวเขาเอง เราต้องฝึกให้เขาทำดีก่อน แต่ผมพูดว่า สิ่งที่คุณต้องทำก็คือ ฝึกให้เขา เป็นคนคิดและทำ ด้วยตัวเขาเอง
ผู้เขียนบอกว่า อาอ้าย กำลังอธิบาย วินัยในตัวเอง กับ วินัยจากภายนอก เพราะเขาชี้ ที่หน้าผาก และตัวของเขา พร้อมกับพูดว่า “ถ้าวินัยมาจากหน้าคนนี้ และตัวคนนี้ แล้วอะไรจะเกิดขึ้น เมื่อหน้า และตัวคนนี้ จากไป?” ผู้เขียนตอบว่า เธอรู้สึกสับสน เพราะพุทธศาสนาสอนว่า ไม่ควรเชื่อ อย่างไม่เปิดหู ไม่ลืมตา แต่ทดสอบ และพิสูจน์ ด้วยตัวเองเสียก่อน อาอ้ายโบกมือ แล้วพูดว่า “ผมไม่ได้ว่าชาวพุทธ แต่พูดถึงคนไทย”
ร.พ.ม. : การพัฒนามนุษย์อย่างเร่งรีบ
ในตอนท้ายของบทนี้ ผู้เขียนเล่าประสบการณ์ การสัมมนา ระหว่างวันสุดสัปดาห์ ที่ไร่แห่งหนึ่งในชนบท การสัมมนา มีวัตถุประสงค์ เพื่อฝึกความอดทน ความสามัคคี และการช่วยกันแก้ปัญหา รายละเอียดต่อไปนี้ เป็นบันทึกของผู้เขียน เป็นภาษาอังกฤษ และได้ถ่ายทอดเป็นภาษาไทย โดยมิได้ตัดตอน
การลงพื้นที่ เป็นวิธีสุดท้าย ของการพัฒนาตัวบุคคล สำหรับเรา การ“เดินทางค้างแรม” ณ ไร่ ๓๙ เป็นการสัมมนา ภาคปฏิบัติ ไร่ ๓๙ เป็นที่ของศีรษะอโศก เนื้อที่ปกคลุมด้วยป่าผลไม้ ร่องผัก และทุ่งนา สำหรับการเพาะปลูก ฉันได้ข่าวนี้ ขณะที่สาละวน แยกขยะอยู่กับ อาจันทิมา และ อาทางบุญ อาจันทิมาบอกว่า เธอเตรียมตัวจะไปกับกลุ่ม และชวนฉันไปด้วย ถ้าฉันอยากไป อาทางบุญ ค้านว่า นี่ไม่ใช่ไปเพื่อ “ความสนุก” ในวันสุดสัปดาห์ แต่เป็นการ“ฝึกความแข็งแกร่ง” ต่อมา ฉันได้ยิน เพื่อนบ้านพูดว่า อาทิตย์นั้น เขาจัดไว้ สำหรับคนวัด แต่คนวัดอ่อนแอ และไม่มีใครอยากไป อากลั่นพร บอกว่า เธออาจ“หนี” ไปเยี่ยมน้องที่บ้าน เพื่อหลีกเลี่ยง ถูกใครดึงไปเข้าพวก ในฐานะนักวิจัย ผู้อยากรู้ อยากเห็น ฉันโดนบ่วงแห่งการท้าทาย ต่อความยากลำบาก ลากไป แน่นอน ฉันไม่ควรพลาดโอกาส อันดีงามเช่นนี้
วันศุกร์ : เปิดกิจกรรม
ทุกคนที่จะร่วม “เดินทางค้างแรม” ประชุมกันที่โรงธรรม ในวันศุกร์ เวลาบ่าย ๒ โมง มีผู้ร่วมประชุม ทั้งหมด ประมาณ ๔๕ คน: ๓๕ คน เป็นฆราวาส จากศีรษะอโศก และ ๑๐ คน จากสีมาอโศก (จังหวัดนครราชสีมา) อายุระหว่าง ๓๕ ถึง ๕๐ ปี (มีผู้สูงอายุ ท่าทางแข็งแรงอยู่ ๒-๓ คน) ผู้นำ ๒ คน ซึ่งมีหน้าที่ เป่านกหวีด และตะโกน บอกเราว่า เรากำลังไป “สร้างสังคมใหม่” เราเป็นกลุ่มแรก ในรอบปี ที่ร่วมใน ร.พ.ม. (เร่งรัด พัฒนา มนุษยชาติ) ซึ่งเป็นการสัมมนา ภาคปฏิบัติ สำหรับ “การพัฒนามนุษย์ อย่างเร่งรีบ” พวกเราคงรู้สึกเฉยๆ เพราะไม่เห็นใคร แสดงความกระตือรือร้น แต่อย่างใด จนกระทั่ง อาวิชัย และ อาเขมร สั่งให้เรา ทำตัวเหมือนเด็ก อายุ ๑๕ ขวบ และ เล่นเกมสนุกๆ
เราทำตามคำสั่ง กระโดดตัวลอย เบียดกันเข้าแถว ตามลำดับไหล่ ผู้ชาย ๓ แถว ผู้หญิง ๓ แถว กางแขนออก เพื่อเว้นระยะ ระหว่างคน เท่าๆกัน ทิ้งตัวลงกับพื้น หัวเราะ แล้วตะโกนพร้อมๆกัน ครั้นแล้ว ผู้นำบอกให้เรา ตัดสินใจ ภายใน ๑ นาที ว่าเราจะใช้เวลาเท่าไร ในการนับแถว และเราจะนับแถวอย่างไร เราตกลงเลือก ๓๐ วินาที และนับจากผู้หญิง ที่อยู่รอบนอก นับขึ้น นับลง ตลอดแถวของเรา เราเริ่ม “เห่า” (ตะโกน) เลขลำดับของเรา เมื่อถึงตาเรา มันสับสนอลเวงชอบกล และกินเวลากว่า ๓๐ วินาที เราพยายามอีกครั้ง เกือบจะสำเร็จ หัวหน้าถามว่า เราจะทำให้ดีกว่านี้ ได้ไหม เราลงมติ เลือกเวลาใหม่ และลองอีก ครั้งแรก ๒๕ วินาที แล้ว ๒๐ วินาที … ๑๙ วินาที เป็นมติที่ตกลงกัน ระหว่างคนที่พอใจ กับคนที่อยากทำให้ดีขึ้น แต่ละรอบ เราสำรวจว่าใครทำให้ล่าช้า ผู้ถูกตักเตือน รับที่จะปรับปรุงตัวให้ดีขึ้น เรานับรอบสุดท้าย และประหลาดใจ ที่เราทำได้ดีขึ้นอักโข เรานับคนตั้ง ๔๕ คน เสร็จในเวลา ๑๕ วินาที ไม่น่าเชื่อ ทุกคนหน้าตาชื่นมื่น ไม่มีใครบอกว่า เกมนี้มีวัตถุประสงค์อะไร แต่ฉันประเมินผลของฉันเองว่า เป็นการฝึก การร่วมมือที่วิเศษ และเป็นการสร้างความเชื่อมั่น ในหมู่คณะ กิจกรรมนี้ ชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้ใครไม่แน่ใจ ในความสามารถของตัวเอง แต่ถ้าพยายามให้หนักขึ้น อีกสักหน่อย ก็จะพบความสำเร็จ
หลังจากเกมนี้ เราแยกออกเป็น ๕ กลุ่ม เล่นเกมทุบน้ำแข็ง อีกเกมหนึ่ง (ทำความคุ้นเคย เพื่อลดความตึงเครียด) แล้วเตรียมตัว ผจญภัยกันต่อไป ฉันอยู่ใน “ทีมแดง” ซึ่งประกอบด้วย ชาวศีรษะอโศกอีก ๓ คน (ผู้ชายอายุ ๒๐ ปีชื่อ ตุ่น เราเลือกให้เขา เป็นนายหมู่ อาทางบุญ และ อาจับใจ –สตรีวัย ๔๐ ทั้งสองคน) สตรีอีกคนหนึ่ง ผิวบางร่างน้อย มีชื่อเล่นว่า เล็ก มาจากกันทรลักษ์ ผู้ชายอีกคนชื่อ สมชัย เป็นครู สอนอยู่ที่กันทรลักษ์ และผู้หญิงอีกคนหนึ่ง มาจากสีมาอโศก เราต้อง “ค้นหาเหยื่อ” (อาหารเย็น) เอาเอง บนเส้นทางไปสู่ ไร่๓๙ แต่ละทีม จะต้องมองหา ธงสีของตัวเอง ซึ่งปักไว้ริมทาง เป็นเครื่องหมาย ที่ซ่อนอาหาร และเงื่อนปม สำหรับธงผืนต่อไป ขณะที่เราเดินไป และมองหาธงแดง เราสร้างความสัมพันธ์ ระหว่างสมาชิก ในทีมของเรา โดยตั้งชื่อทีมใหม่ว่า “พลังรวม” และคิดคำขวัญ เพื่อท่อง ตลอดสัปดาห์ว่า “ช่วยกันทำ ช่วยกันคิด มีชีวิตชีวา” ทีมเหลือง ซึ่งมีอาพลีขวัญ เป็นหัวหน้า มีความคิดแยบคาย ซึ่งทำให้การเดินป่า ระยะทาง ๖ ไมล์ (เกือบ ๑๐ กิโลเมตร) “ทนไหว” โดยการร้องรับกัน อย่างสนุกสนาน
อาพลีขวัญ: หิวไหม? ร้องรับ: ไม่หิว!
อาพลีขวัญ: เหนื่อยไหม? ร้องรับ: ไม่เหนื่อย!
โชคไม่ดี ทีมของเรา พลาดธงแดงไป ๒ แห่ง เราต้องวกกลับไปใหม่ แน่นอน เราหิวและเหนื่อย แต่พอได้ยินเสียงขานรับ ของทีมอาพลีขวัญ นายหมู่ตุ่นของเรา ขอให้เราเอาอย่าง เราจึงต้องแข็งใจ สู้ สู้ สู้!
ขณะที่เราเข้าไปใกล้ที่ตั้งค่าย เราเผชิญกับ “เทพารักษ์” ซึ่งมีหน้าที่รักษาเมือง แต่ละทีม จะต้องเผชิญหน้ากับ เทพารักษ์ และเล่นเกมกับท่าน เพื่อเรียนกฎของเมือง แต่เนื่องจาก เราเป็นทีมสุดท้าย ไม่ใช่เพราะ เพียงแต่ เราต้อง วกกลับไปหาธง ที่เราพลาดอย่างเดียว เรายังยอมให้ทีมคนแก่ ขึ้นหน้าเราไปก่อน และเนื่องจาก เวลามีน้อย เทพารักษ์ จึงยอมให้เราผ่านไปได้ โดยไม่ต้องเล่นเกม แต่ท่านบังคับ ให้เราเอาผ้า ปิดตาให้แน่น ตลอดทาง ที่จะเดินต่อไป เพื่อไม่ให้ใครรู้ว่า เมืองตั้งอยู่ที่ไหน นายหมู่ตุ่นคนเดียว ที่ได้รับอนุญาต ไม่ต้องปิดตา เพราะว่า จะต้องบอกทาง ให้ลูกหมู่ เราเดินข้ามมูลดิน แผ่นกระดาน ลัดเลาะไป ตามเขื่อนที่สูงชัน แล้วลงท้องร่อง ที่เต็มไปด้วยน้ำคร่ำ และขี้โคลน ผสมมูลสัตว์ เราต้องเดิน แถวเรียงเดี่ยว และเกาะกัน เพื่อไม่ให้หกล้ม พอหัวหน้าเตือน ให้ระวังปลิง ผู้หญิงร้องกรีด ด้วยความขยะแขยง ฉันวิตกกังวล ว่าพยาธิ จะเข้าสู่ร่างกาย เพราะฉันถอดถุงน่องรองเท้า ขณะที่เดินลุยขี้วัว ฉันจึงต้อง เดินเท้าเปล่า จนเท้าแห้ง ด้วยเหตุที่เท้าของฉัน นุ่มนิ่มกว่าเท้าของชาวอโศก ซึ่งไม่เคยสวมรองเท้า ฉันจึงเดิน ช้ากว่าใครๆ นายหมู่ตุ่นใจดี กรุณารอ และเดินเป็นเพื่อน ขณะที่ฉันพยายามเขย่งเก่งกอย ข้ามทุ่งนา ฉันเหยียบลงไป บนตอซังข้าวโพด เจ็บปวดแทบสิ้นใจ
ในที่สุด เรามาถึงประตูเมือง แต่การเดินทางของเรา ยังไม่สิ้นสุด ยายแก่คนหนึ่ง ตรวจสัมภาระของเรา และพบว่า เราขาดเกลือ (เราคงพลาด ธงอันนั้น) แกไม่ยอมให้เราผ่านเข้าเมือง เราจะต้อง ต่อรองกับแก ขณะที่ความมืด กำลังคืบคลานเข้ามา เรานั่งลง และคิดหาวิธีต่อรอง ตุ่นแสดงความเป็นผู้นำ โดยขอให้ทุกคน ออกความเห็น ฉันสงสัยว่า นี่จะเป็นการฝึกหัด การแก้ปัญหาเป็นกลุ่ม อย่างไรก็ตาม อาจับใจ (ท่าทาง กำลังคลุ้มคลั่ง) และ อาสมชัย เท่านั้น ที่พยายามเสนอความคิด คนอื่นตอบ “ฉันไม่รู้” อาจจะเป็นเพราะว่า เรากำลังเหนื่อย หรือ อยากยกความสำคัญ ให้คนอื่นเกรงใจ ตามประเพณีไทย หรือ อะไรก็ตาม ไม่มีใครสนใจการอภิปราย ในที่สุด ยายแก่คนนั้น ริบสัมภาระของเราไปหมด ยกเว้น ข้าวสาร กับหม้อหุงข้าว เพื่อแลกกับเกลือถุงนิดเดียว ครั้นแล้ว รถยนต์บรรทุกขนาดเล็ก รับเราไปส่งถึงที่พัก แต่เนื่องจาก กลุ่มเรา และกลุ่มอื่นอีก ๒ กลุ่ม มาถึงช้าไป ๒ ชั่วโมง ผู้ประสานงาน ต้องขับรถ กลับไป เอาอาหาร และน้ำ จากศีรษะอโศก ขอบคุณพระ… เราไม่ต้องหุงอาหาร ตามที่วางแผนกันมา ดูเหมือนว่า สมาชิกในกลุ่มของฉัน กลับฟื้นคืนชีพ หลังจากได้รับประทานอาหาร ดื่มน้ำ และพักผ่อน แต่ฉันไม่… เสร็จจากกินอาหาร ฉันกางเต้นท์ รู้สึกวิงเวียน หมดแรง ล้มฟุบ แล้วก็…สิ้นสติ!
เช้าวันเสาร์ : เทศนา งาน และจุดอ่อน
หลังจากการผจญภัย ในวันศุกร์แล้ว ดูเหมือนว่า กิจกรรมต่าง ๆ มันง่ายไปหมด ที่เหลืออยู่ เป็นงานเล็กๆ สำหรับวันหยุด สุดสัปดาห์ วันเสาร์เริ่มต้น เหมือนวันธรรมดา ที่ศีรษะอโศก ระฆังปลุก เมื่อเวลา ๓.๓๐ นาฬิกา ตามมาด้วย การสวดมนตร์ และเทศนา หัวข้อในการเทศนาก็คือ การสร้างสังคมใหม่ ท่านสมภาร แห่งศีรษะอโศก อธิบายว่า สุดสัปดาห์นี้ เราจะมีชีวิต ความเป็นอยู่ คล้ายกับผู้คนในแดนอโศก (ชุมชนแรก ของอโศก) เราควรเพ่งเล็งถึง ความยากลำบาก แต่เพื่อให้จับใจ ท่านถามว่า มีใครบ้าง ตกรถ มาไม่ทัน ปล่อยให้รถออกไปก่อน และต้องย่ำต๊อกมาเอง มีเสียงฮาดังลั่น บางคนพยักหน้า มีมือยกสลอน
ท่านยุทธ ชมกลุ่มของอาพลีขวัญ ที่ร้องเพลง ให้กำลังใจผู้อื่น “นี่เป็นการปฏิบัติธรรม” ท่านยุทธกล่าว “เราควรมีน้ำใจ ที่จะช่วยเหลือ ซึ่งกันและกัน ในยามยาก”
ท่านดินไท ถาม “ทำไมต้องอาศัย อยู่ในสังคมอย่างนี้?” ผู้ชุมนุมตอบต่างๆกัน เช่น เป็นคนดี สร้างบุญนิยม พัฒนาตัวเราเอง ทำให้เหมือนเพื่อน เพื่อแก้ปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย หลังจากฟังเทศน์
อาพลีขวัญ นำเราทำกายบริหาร เพื่อให้เลือดหมุนเวียน หลังจากนั่งบนพื้นดินแฉะ มา ๓ ชั่วโมง ท่ากายบริหาร บางท่า เป็นการเคลื่อนไหว ที่แสดงคุณงามความดี เช่นความสะอาด ความรื่นเริง และความขยัน หมั่นเพียร
เวลา ๗.๐๐ นาฬิกา เราไปทำงาน แต่ละกลุ่ม ได้รับมอบหมาย ให้ทำงานต่างๆกัน เช่น ตัดเถาวัลย์ ที่เลื้อยขึ้นคลุม ต้นไม้กินผล ถางแปลงเพาะปลูก ซึ่งหญ้าขึ้นรกรุงรัง กำจัดวัชพืช และสร้างศาลาธรรม ระหว่างนั้น สมาชิก ๒ คน จากแต่ละกลุ่ม เตรียมอาหารเช้า (อาจับใจ และ อาทางบุญ เป็นแม่ครัวของเรา) กลุ่มของฉัน และกลุ่มอื่น อีกกลุ่มหนึ่ง รับผิดชอบ บริเวณที่หญ้าขึ้นรก ครั้งแรก เราใช้จอบสับเถาวัลย์ และรื้อหญ้า ที่ขึ้นสูง แล้วลากมากองไว้ ได้กองพะเนิน เล็กบอกว่า น่าเสียดาย ผักบุ้งนา ผักที่เรา รื้อขึ้นมานั้น เป็นผักที่ขึ้นเองตามป่า และพวกเดียวกันกับ ผักที่เขาขายกันทั่วไปในตลาด เล็กเก็บผัก ได้กองใหญ่ บอกว่า จะเอาไปให้แม่ครัว ตุ่น เก็บรากพืชอีกชนิดหนึ่ง ที่เราขุดขึ้นมา เขาบอกว่า ใส่ข้าวผัด กินอร่อยนัก ฉันเห็นด้วยกับเพื่อนร่วมงาน ว่าไม่ควรทิ้งพืชที่กินได้ เราจึงช่วยกันขนของ ที่กำลังจะขึ้น โต๊ะ(เสื่อ)เสวย ไปโรงครัว เพื่อแปลงเป็นอาหารเที่ยงของเรา
หลังจากทำงานได้ ๒ ชั่วโมง เราพบกัน ในโรงธรรมใหม่ (หลังคาผ้า ขึงกับเสาไม้ เพื่อกั้นแสงแดด) เพื่อทำกิจกรรม “ส่องกระจกตัวเอง” ผู้ประสานงาน ขอให้ทุกคน เขียนจุดอ่อนของตัว ลงบนชิ้นกระดาษ อาวิชัย และ อาเขมร เก็บกระดาษเหล่านั้น แล้วแจกจ่าย ให้แต่ละกลุ่ม เราเลือกปัญหา ที่มีร่วมกันมากที่สุด แล้วหาวิธีแก้ ผู้นำของเราประกาศ “แปดหัวดีกว่าหัวเดียว” เพื่อจะแก้จุดอ่อน “ความโกรธ” กลุ่มเราเสนอว่า
-
พยายามคิดถึงแง่ดีของคนที่เราโกรธ
-
อดทนแล้วความโกรธจะผ่านไปเอง และ
-
มองให้เห็นว่า ปัญหานั้น อยู่ในตัวเราเอง ไม่ใช่ที่ผู้อื่น
กลุ่มของ อาวรรณ เลือก “ฉันไม่กล้า” จากรายการจุดอ่อน และเสนอข้อแนะนำดังนี้
-
กล้าที่จะเจ็บ
-
กล้าที่จะเสียหน้า
-
สร้างกำลังใจ และความเชื่อมั่นในตัวเอง