สัมมาพัฒนา : สันติอโศก ขบวนการพุทธปฏิรูปแห่งประเทศไทย
จูลิอานา เอสเซน เขียน
บทที่ ๕
สร้างชุมชน
ชุมชน หมายถึงกลุ่มคน ซึ่งมีความผูกพันซึ่งกันและกัน และมีเอกลักษณ์อันเดียวกัน สมาชิกของชุมชนอโศก แม้ว่ามีภูมิหลังแตกต่างกัน แต่ทุกคน มีลักษณะอย่างเดียวกัน ที่เห็นเด่นชัด คือการแสดงตนว่า เป็นนักปฏิบัติธรรมกลุ่มอโศก
การพัฒนาชุมชน เป็นการปฏิบัติ ที่เกี่ยวข้องกับหมู่บ้าน เป็นกิจการของหมู่บ้านหนึ่ง หมู่บ้านใดโดยเฉพาะ คนในหมู่บ้าน ตัดสินใจว่า จะสนองความต้องการของเขาอย่างไร สมาชิกของหมู่บ้าน เป็นผู้ตัดสินใจเอง และกำหนด ชะตากรรมของตัวเอง
การพัฒนาชุมชน ไม่ใช่เพียงแต่สร้าง หรือแสวงหาวัตถุต่าง ๆ เพื่อค้ำจุนสมาชิกอย่างเดียว แต่เป็นการตั้งจุดประสงค์ของชุมชน โดยสมาชิกทั้งชุมชน ร่วมกันตัดสิน และกำหนดวิธีการ ที่จะพัฒนาไปสู่ จุดประสงค์นั้น รวมทั้งสร้างความสามัคคี ให้เกิดขึ้น โดยการร่วมกันรับผิดชอบ ต่อความเป็นไปของชุมชน
ในบทนี้ ผู้เขียนกล่าวถึงวิธีที่สมาชิก แต่ละคนปฏิบัติ เพื่อให้บรรลุถึงจุดประสงค์ ระดับหนึ่ง ที่ชุมชนตั้งไว้ – เช่นการไม่ยึดติด และการทำงานหนัก – อีกอย่างหนึ่ง ผู้เขียนชี้ให้เห็นว่า ในขณะที่ศีรษะอโศก บรรลุถึงความสำเร็จ ขั้นหนึ่งนั้น ก็ยังมีอุปสรรค อยู่อีกหลายอย่าง เป็นต้นว่า สมาชิก มักมีความคิดเห็นไม่ลงรอยกัน มีผู้ใหญ่ไม่เพียงพอที่จะดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด และชุมชน ยังพึ่งตนเองได้ไม่สมบูรณ์
จากตัวบุคคลไปสู่ชุมชน
นับตั้งแต่วันแรก ที่สมาชิกสันติอโศก เดินทางมาพบ บริเวณที่ใช้เป็นฐานของศีรษะอโศก ในปัจจุบันนี้ สมาชิกได้ใช้ ความพยายามอย่างหนัก ในการพัฒนาชุมชน ผู้ติดตามสมณะคณะแรก ที่มากางกลด ในป่าช้าบ้านกระแชง ได้ทำงาน อย่างลำบากตรากตรำ ทั้งนี้ก็เพื่อความอยู่รอด เช่น ขุดบ่อน้ำ สร้างที่พัก และปลูกต้นไม้ แต่เมื่อประชากรเพิ่มขึ้น สมาชิกได้รวมพลังความคิด และแรงงาน ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ดีขึ้นเช่น เรื่อง อาหารการกิน สถานที่อยู่อาศัย ที่เก็บข้าวของ ห้องประชุม และระบบการกำจัดสิ่งปฏิกูล ที่จริง ชุมชนอาจตั้งขึ้นได้ โดยไม่ต้องอาศัยหลักพุทธศาสนา แต่ลักษณะของชุมชน คงจะไม่เหมือนกับ ชุมชนที่เห็นอยู่ ในขณะนี้ ศีรษะอโศกตั้งขึ้นมา ด้วยความมุ่งหมาย เพื่อการปฏิบัติธรรม ดังนั้น การปฏิบัติของสมาชิกแต่คน จึงกำหนดรูปร่างหน้าตา แนวทาง และ คุณภาพชุมชนของเขา
ไม่ยึดติด
ความมุ่งหมายอย่างหนึ่ง ของพุทธศาสนา คือการไม่ยึดติด หรือการสละ ละ ทิ้ง เป็นการปฏิบัติ ที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค และอุปโภคโดยเฉพาะ กลุ่มอโศก สนับสนุนให้สมาชิก “ไม่ยึดติด” โดยการสละทรัพย์ส่วนตัว เอาไปรวมไว้ที่ส่วนกลาง หรือยกให้เป็นสมบัติ ของส่วนรวม (ไม่สะสม ไว้ใช้ส่วนตัว) จำกัดการบริโภค อุปโภคให้พอดี ใช้ทรัพย์ต่างๆ จากกองกลาง และใช้แต่น้อย ใช้เท่าที่จำเป็น ความจริง การไม่สะสมสิ่งของ ไว้เป็นสมบัติส่วนตัวนั้น เป็นการพัฒนาจิตวิญญาณ ของผู้ปฏิบัติเอง แต่ก็ให้ประโยชน์ แก่ชุมชนด้วย หลายประการ
ประการแรก: การไม่ยึดติด ช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรของชุมชน ตามที่กล่าว ในบทที่แล้ว ว่าการถือศีล เป็นการลด การบริโภค (เช่นไม่กินเนื้อ ไม่แต่งตัว ด้วยเสื้อผ้าราคาแพง ไม่ประดับเพชรนิลจินดา ไม่ใช้ที่นอนสูง ที่นอนใหญ่) จึงเป็นการประหยัดทรัพย์ อย่างเห็นได้ชัด ยิ่งกว่านั้น การใช้ทรัพยากรร่วมกัน ยังช่วยประหยัด เพิ่มขึ้นอีก เช่น สมาชิกทุกคน ดูโทรทัศน์ ในศาลาธรรมแห่งเดียว แทนที่ต่างคน ต่างมีโทรทัศน์ใช้ที่บ้าน การ “ใช้น้อย” ส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยปริยาย เช่น การรับประทานอาหารมื้อเดียว ก็ช่วยลดเชื้อเพลิง ในการหุงต้ม (ผู้เขียนแสดงความคิดเห็นว่า ศีรษะอโศก น่าจะลดการใช้เชื้อเพลิงลงได้อีก โดยใช้ถ่านในการหุงต้ม แทนที่จะใช้ฟืน อย่างที่ทำอยู่)
ผู้เขียนวิจารณ์ว่า อโศกให้ความหมายของ “การสะสม” เป็น ๒ นัย คือ “การสะสมส่วนบุคคล” กับ “การสะสมส่วนรวม” ขณะที่อโศก ไม่สนับสนุน การสะสมส่วนบุคคล แต่กลับไปสนับสนุน การสะสมส่วนรวม ผู้เขียน ยกตัวอย่าง การสะสมของส่วนรวมอันหนึ่ง ซึ่งเห็นได้ชัด คือการสร้างวิหาร ราคาเรือนล้าน ของอโศกที่กรุงเทพฯ ผู้เขียนบรรยายว่า วิหารนี้มี ๔ ชั้น เป็นรูปก้นหอย มีน้ำตกจำลอง สูง ๓๐ฟุต มีต้นไม้ทำด้วยปูนซีเมนต์ ซึ่งคล้ายต้นไม้จริงมาก เป็นเสารองรับน้ำหนัก และมีก้อนหินพม่าสีดำ ที่สวยสดงดงาม เรียงรายอยู่ตามพื้นดิน (หินนี้สั่งเข้ามา ด้วยราคาแพง) รวมทั้งภาพเขียน ที่เกี่ยวกับ ชีวิตประจำวัน (ประเพณีไทย ภาพแอบสแตรกท์ ภาพปิดทอง ซึ่งเกี่ยวข้องกับศิลปะ และวรรณคดี) อยู่บนฝาผนังทุกด้าน ชั้นบนสุด ปูด้วยหินอ่อน
ผู้เขียนเล่าว่า ครั้งแรก ที่เขาไปเยี่ยมสันติอโศก (ที่กรุงเทพ ฯ) เขาประหลาดใจมาก ที่เห็นการใช้วัสดุราคาแพง เพราะมันตรงกันข้าม กับวาทศิลป์ของอโศก เขาถามสมาชิกคนหนึ่ง ซึ่งอาศัยอยู่ที่นั่น ว่าคิดอย่างไร กับการใช้เงินมหาศาล และวัตถุราคาแพง สร้างวิหารนั้น หมูเฒ่า ตอบด้วยคำถาม “แล้วจะให้คน ที่มางานสันติอโศก นอนกันที่ไหน?”
ผู้เขียนถามสมาชิกอีกท่านหนึ่ง คือ สิกขมาต จินดา ท่านโบกไม้โบกมือ คล้ายกับว่า ไม่อยากจะตอบ และตัดบทว่า ท่านไม่ได้ใช้วิหารนั้น อโศกมีวิหารไว้ สำหรับคนภายนอก – เป็นสะพานเชื่อมโลกภายนอก – ท่านอธิบายว่า เพื่อจะติดต่อกับคนภายนอก ผู้ซึ่งบางทีไม่มีปัญญา เหมือนสาวก รุ่นแรกของอโศก เป็นการยาก ที่จะเอาวิหาร ซึ่งเป็นวัตถุ ไปเปรียบเทียบกับ การพัฒนาจิตใจ อโศกอาจสร้างวิหาร ที่สง่างาม อย่างที่ชาวพุทธไทยทั่วไปนิยม เพื่อเอาไว้ เพิ่มพูนศรัทธา ของประชาชน
ผู้เขียนกล่าวว่า ลักษณะการใช้วัตถุที่ศีรษะอโศก ก็เช่นเดียวกัน ครั้งแรก เธอลำบากใจ ที่เห็นหลายสิ่ง หลายอย่าง ไม่ตรงตามคติพุทธ ที่เธอศึกษามาก่อน เช่น ใช้น้อยและไม่สะสม แต่เธอกลับเห็น สำนักงาน ที่ศีรษะอโศก มีเครื่องใช้ไม้สอย ทันสมัย มีเครื่องปรับอากาศ คอมพิวเตอร์ กล้องถ่ายรูปดิจิตอล เครื่องโทรสาร และโทรศัพท์มือถือ รวมทั้งอาคารอีก ๓ หลัง ที่กำลังก่อสร้าง – โรงครัวหลังใหญ่ แทนหลังเรียบๆ อาคารหรูหราไว้รับรองแขก และ เครื่องอำนวยความสะดวก ในห้องประชุม โรงงานหลังใหม่ สำหรับ ผลิตยาธรรมชาติ-
ผู้เขียนกล่าวว่า ไม่ใช่เพียงแต่สิ่งก่อสร้างเท่านั้น ที่รบกวนใจเธอ วัสดุที่ใช้ ก็มีราคาแพง ตัวอย่างเช่น วิหารที่กรุงเทพ ฯ ที่รับรองแขก และ เครื่องอำนวยความสะดวก ในการประชุม ซึ่งเธอเห็นว่า เกินความจำเป็น เช่น กระเบื้องหินอ่อน รูปที่แกะสลักด้วยไม้ เธอเล่าว่า ชาวออสเตรเลียนคนหนึ่ง มาเห็นศีรษะอโศกเข้า แล้ววิจารณ์ว่า การใช้วัสดุ อย่างฟุ่มเฟือยอย่างนั้น ไม่ใช่วิถีทางของชาวพุทธ เธอเห็นด้วยว่า ชาวพุทธไม่ใช้ของเกินความจำเป็น แต่การเอาใจใส่ ตบแต่ง ประดิษฐ์ คิดค้น ทำรูปร่างให้น่าดูนั้น ไม่เป็นการฟุ่มเฟือย แต่เป็นนิสัย และหัวสมองศิลปะของคนไทย
ผู้เขียนเล่าว่า เธอมาเข้าใจและพบวิธี ที่จะทำให้จิตใจสงบ เมื่อหัวหน้าฝ่ายบริหาร ของชุมชนศีรษะอโศก อธิบายให้ฟัง
อาแก่นฟ้า : ผู้ที่อาศัยอยู่ในศีรษะอโศก ไม่ได้คิดว่า สิ่งที่อยู่ในชุมชน (ทั้งอาคาร และเทคโนโลยี) เป็นของเขา แต่ตรงกันข้าม เขาสร้าง และทำนุบำรุงสิ่งเหล่านี้ เพื่อจะใช้เป็นเครื่องถ่ายทอดความรู้ ไปสู่คนอื่น เพื่อความสะดวก และคุณภาพ ในการอบรมสั่งสอน
อาแก่นฟ้า ขยายความต่อไปว่า ชาวอโศกมิได้ต่อต้านตัวเทคโนโลยี แต่ไม่เห็นด้วย กับการใช้เทคโนโลยี ในทางที่ผิด หรือใช้ ในการทำลาย เขายกตัวอย่าง พลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งอาจใช้ฆ่าคนก็ได้ หรือใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้าก็ได้
อาแก่นฟ้า ยืนหยัดว่า ไม่มีปัญหา กับการใช้เทคโนโลยี ตราบเท่าที่เราใช้มัน เพื่อวัตถุประสงค์ที่ดี และศีรษะอโศก ก็ใช้เทคโนโลยี ในการติดต่อกับคนทั่วโลก
ผู้เขียนเคยคิดว่า การพัฒนาที่ไหน ก็คงคล้ายๆกัน คือการสะสมวัตถุ เพื่ออำนวยความสะดวกสบาย และ ส่งเสริมการสะสมต่อๆไป แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะความแตกต่าง ของการพัฒนา แต่ละอย่าง อยู่ที่ความมุ่งหมาย
การพัฒนาของอโศก หมายถึง การกระจายความรู้ และการปฏิบัติ ทางพุทธศาสนา ซึ่งผลในบั้นปลายก็คือ การไม่ยึดติดวัตถุ
ประการที่สอง: การไม่ยึดติด ประหยัดเวลา และช่วยพัฒนาชุมชน
การประหยัด คือประหยัดทั้งเวลา และแรงงาน ผู้เขียนรายงานว่า สมาชิกส่วนหนึ่ง ของศีรษะอโศก เล่าว่า เขาไม่ต้องเสียเวลา กับการซื้อหาเสื้อผ้า และการดูแลรักษามัน เพราะว่าเขามีกัน คนละไม่กี่ชิ้น
ในบทที่แล้ว
อาเจนจบ พูดถึงการลดการบริโภคว่า ร่างกายไม่ต้องอ่อนระโหยโรยแรง ที่ต้องทำงานหนัก เพื่อสนองตัณหา
เอม ซึ่งเคยมีเสื้อผ้ามาก ชี้ให้เห็นว่า การครอบครองของน้อยชิ้น เป็นการประหยัดเวลา “เราไม่ต้องเสียเวลากับการซัก รีด เก็บ เราไม่ต้องกังวล กับเวลาที่เสียไปกับมัน”
นักเรียนหญิงคนหนึ่งกล่าวว่า เครื่องแบบของอโศก ช่วยเธอประหยัดเวลาได้มาก
เกี่ยวกับเสื้อผ้า เราใช้เครื่องแบบ มันก็เรียบร้อยและง่ายดี เราไม่ต้องตบแต่งมาก รองเท้า เราก็ไม่ใส่ ไม่เหมือนข้างนอก ซึ่งเขาต้องวุ่นอยู่กับ การแต่งตัว เราเอาเวลาและพลังงาน ที่เสียไปกับสมบัติ ที่ครอบครอง มาใช้ให้เป็นประโยชน์ดีกว่า เช่น พักผ่อนหย่อนใจ หรือ ทำงานให้ชุมชน ช่วยส่งเสริมความดีร่วมกัน เป็นต้น
ประการที่สาม: การไม่ยึดติดช่วยลดปัญหาสิ่งปฏิกูล
ผู้เขียนกล่าวว่า ขยะเป็นปัญหาของโลก ประเทศไทย ก็กำลังมีปัญหาเรื่องขยะ แบบเดียวกับสหรัฐอเมริกา เธอเล่าว่า อเมริกาผลิตขยะ ปีละประมาณ ๑๕๐ ล้านตัน –ทิ้งในอเมริกาไม่หมด เพราะมีที่ไม่พอ ต้องบรรทุกเรือ เอาไปทิ้งที่ประเทศอื่น- ผู้เขียนชี้ให้เห็นว่า นครเชียงใหม่ ก็กำลังประสบปัญหา เช่นเดียวกัน หาที่ทิ้งขยะไม่ได้ เพราะที่ทิ้งเก่าเต็ม ครั้งหนึ่ง เชียงใหม่ มีขยะกองพะเนิน เทินทึกเต็มถนน จนส่งกลิ่นเหม็น และเป็นที่แพร่เชื้อโรค ในชนบท ซึ่งไม่มีรถเก็บขยะ พลเมืองจึงต้อง อยู่อย่างประหยัด คือไม่ทิ้งของ ถ้าไม่จำเป็น เขาจะใช้ของที่ใช้ได้ ใช้แล้วใช้อีก ใช้ไม่ได้จึงเผา แต่การเผาขยะ ในสมัยนี้ ต้องระมัดระวัง เพราะควันไฟ ที่เกิดจากการเผาถุงพลาสติก หรือถ้วยโฟม ทำให้อากาศเสีย และเป็นอันตราย ต่อสุขภาพ
ศีรษะอโศก ลดสิ่งปฏิกูล โดยการบริโภคแต่น้อย ผู้เขียนเล่าว่า เขาเรียนการลดสิ่งปฏิกูล จากสมาชิกอโศก โดยอาศัยหลัก ๔ อาร์ (4R) คือ
Reuse (ใช้แล้วใช้อีก)
Repair (บูรณะ ซ่อมแซม)
Recycle (แปลงรูปเอามาใช้ใหม่)
และ Reject (ทิ้ง)
ผู้เขียนร่วมทำงานแยกขยะ กับสมาชิกศีรษะอโศกบ่อย ๆ เขาแยกขยะ ออกเป็นกองๆ เช่นกระดาษแห้ง ขวดพลาสติก แก้ว เศษโลหะ (นำไปขายในเมือง ให้เขาเอาไปแปรรูป) สมาชิกแยกขยะบางคน เช่น อาทางบุญ และ อาจันทิมา บ่นบ่อยๆว่า นักเรียน ทิ้งสมุดเป็นเล่มๆ ซึ่งยังมีกระดาษดีๆ ที่ยังใช้ได้ อาทางบุญ จะเก็บสมุดเหล่านี้ ไว้แจกนักเรียน ส่วนเสื้อผ้าที่ถูกทอดทิ้ง อาทั้งสองจะเก็บมาซัก ปะชุนตะเข็บที่ขาด แล้วเก็บไว้ใช้เอง ให้ชาวบ้านที่อยู่ใกล้ชุมชน หรือขนไปแจก คนที่อยู่ในชนบท แถวบ้านเดิม ของอาทั้งสอง
อาจันทิมา ปรารภว่า
มีน้อยใช้น้อยเป็นสิ่งสำคัญ เพราะว่าถ้ามีมาก มันก็เสียมาก เช่นเสื้อผ้า รักษาลำบาก เป็นที่ซ่อนของ แมลงชีปะขาว และหนู เราไม่มีเวลาไปสะบัดมันทุกวัน เราไม่ควรมีเกิน ๓ ชุด มีอะไรก็ใช้เท่านั้น ถ้ามีมาก ก็แบ่งให้คนอื่นไปใช้บ้าง… เมื่อฉันแยกขยะ ฉันเก็บเสื้อผ้า ที่เขาทิ้ง เอาไปให้คนที่เขาต้องการ
ยังมีสิ่งอื่นอีก ที่คนชอบทิ้ง เช่น ชิ้นส่วนของเครื่องใช้ไฟฟ้า ลวด ถ้วยกาแฟ ปากกา ถุงพลาสติก สิ่งเหล่านี้ เราจะเก็บไว้ ที่ถังแปลงรูปของเรา เพื่อนำไปดัดแปลงใช้อีกที ส่วนที่เหลือ ซึ่งมีน้อย เราส่งไปทิ้ง ที่ถังขยะในเมือง หรือเผาไฟ (ยกเว้นถ่านไฟฉาย เราจะเก็บใส่กล่องไว้ เพราะจะไม่ทำให้ดินสกปรก) ด้วยวิธีนี้ สมาชิกศีรษะอโศก ได้นำเอาความคิด ตะวันตก คือ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม มารวมกับ การปฏิบัติทางพุทธ คือการไม่ยึดติด
ประการที่ ๔ เป็นผลจากประโยชน์ของ ๓ ประการที่กล่าวมาแล้ว เพราะว่า การไม่ยึดติด ช่วยอนุรักษ์ทรัพยากร ประหยัดเวลา และพลังงาน เป็นการลดปัญหา เรื่องของเสีย จึงเป็นการเพิ่มสมรรถภาพ ของการพึ่งตัวเอง จะเห็นได้ว่า การลดการบริโภค โดยการถือศีล และเพิ่มการใช้ประโยชน์สูงสุด ในทรัพยากร โดยคำนึงถึงหลัก ๔ อาร์ (4R) รวมทั้ง การใช้ของร่วมกัน การใช้เวลา และพลังงาน ไปในทางสร้างสรรค์ แทนที่จะใช้ไปในการ เอาใจใส่ดูแลแต่ตัวเอง เหล่านี้ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ ของชุมชน อย่างไม่ต้องสงสัย
งาน
กิจกรรมที่นำผล ย่อมส่งเสริมให้ชุมชน พัฒนาไปในทางที่เหมาะสม นั่นคืออุดมคติ ของนักพัฒนา การผลิตอาหาร ที่อยู่ เสื้อผ้า ยารักษาโรค และสิ่งที่จำเป็นในการยังชีพ เป็นกิจกรรมหลัก ของการพัฒนาชุมชนทั่วๆไป แต่สำหรับศีรษะอโศก ดูเหมือนว่า มีงานทำมากกว่านั้น เพราะนอกจาก การผลิตสิ่งที่กล่าวแล้ว สมาชิกยังดิ้นรน ที่จะพึ่งตัวเองให้ได้ สิ่งนี้มีความจำเป็นมาก สำหรับบุญนิยม การปฏิบัติธรรม การสร้างเสริมสมาธิ และทำงานตามหน้าที่ ด้วยความขยันหมั่นเพียร เหล่านี้ ล้วนส่งผลถึง คุณภาพของงาน และ การพัฒนาชุมชนของเขา
รื่น มารดาและอดีตชาวนา ภาคอีสาน รู้สึกกังวล กับการพึ่งตัวเอง เธอเห็นว่า สิ่งสำคัญ สำหรับชุมชนของเธอ คือ กสิกรรมธรรมชาติ ปุ๋ยอินทรีย์ และน้ำจุลินทรีย์ เธอกล่าว
ฉันชอบกสิกรรมเพราะว่า … เราปลูกผักของเราเอง กินเอง ใช้เอง ปลอดสารพิษ ไม่ต้องซื้อ ประหยัด เราชอบปุ๋ยอินทรีย์ เพราะว่า เราทำเองได้ เราชอบจุลินทรีย์ เพราะว่า มันช่วยกระตุ้น ดอกไม้และผลไม้ เราไม่ต้องซื้อจากภายนอก ดีที่สุดคือ เราทำเอง ใช้เอง สบายมาก
สมาชิกแทบทุกคน พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การพึ่งตัวเอง ด้วยการผลิตอาหาร แบบกสิกรรมธรรมชาติ ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และน้ำจุลินทรีย์ ที่ทำเองนั้น ทำให้เขาปลอดภัยจากสารพิษ และ เป็นการประหยัดไปในตัว
เมื่อแต่ละคน ผลิตมากกว่าส่วนที่เขาต้องการ เขาก็สามารถสนับสนุน ค้ำจุนชุมชนของเขาได้
อาเจนจบ ผู้ซึ่งทำนาและปลูกผัก แบบธรรมชาติ อธิบายว่า เขาคนเดียว สามารถปลูกข้าวและผัก ในเนื้อที่ ที่สามารถเลี้ยงคนได้ถึง ๑๐ คน นี่เป็นตัวอย่างหนึ่ง ที่ชี้ให้เห็นว่า สมาชิกที่แข็งแรง สามารถช่วยคนป่วย และคนชราได้
ยายสา ซึ่งมีอายุ ๗๒ ปีกล่าวว่า “เพราะว่าเรามีทุนส่วนรวมของเรา ฉันจึงมีสิทธิ์กินได้”
ยิ่งกว่านั้น เมื่อมีอะไรพิเศษ ที่สมาชิกแต่ละคน ไม่สามารถทำตามลำพังได้ ทุกคนจะช่วยกันลงแรง เป็นกลุ่มใหญ่ เช่น การเกี่ยวข้าว การดับไฟป่า เป็นต้น
การทำงานตามหน้าที่ของแต่ละคน ก็เป็นการทำประโยชน์ ให้ส่วนรวม
อาเจนจบ ซึ่งเมื่อก่อนขายของแผงลอย หันมาพัฒนาการ ทางการเกษตร เพื่อพึ่งตัวเอง และช่วยผู้อื่น
อาพลีขวัญ มีความเชี่ยวชาญ ในการติดต่อทางโทรศัพท์ ต้อนรับแขก และให้ข่าวสาร เพราะเคยทำงาน ที่ร้านขายหนังสือ ที่เธอและสามี เคยเป็นเจ้าของ แม้ว่าเธออยากทำงานในสวนดอกไม้ แต่ก็ไม่มีใครที่ชำนาญ ในงานประชาสัมพันธ์เก่งเท่า เธอจึงรับหน้าที่ ประชาสัมพันธ์เสียเอง
อาไพรศีล ใช้ความชำนิชำนาญ ในการหุงต้ม ช่วยสมาชิกศีรษะอโศก ให้ทำงานได้โดยไม่ต้องท้องหิว
ผู้เขียนบอกว่า เธอเองก็ช่วยในสิ่งที่ตัวถนัด คือเป็นล่าม ให้นักเรียนและผู้ใหญ่ ในการติดต่อกับ แขกบ้านแขกเมือง หรือ ผู้มาเยี่ยม ที่พูดภาษาอังกฤษ
งานทุกอย่าง แม้จะใช้ความรู้ และความสามารถเป็นพิเศษ บางทีก็ยังมีงานที่ด้อยคุณภาพ หลุดออกมา
สิกขมาตุ จินดา ให้ความเห็นว่า เพราะ “เครื่องมือไม่ดี” “เครื่องมือ” ในที่นี้ สิกขมาตุหมายถึงคน และคนที่มี สมาธิ ดีเท่านั้น ที่จะช่วยเสริมสร้าง คุณภาพของสิ่งที่ผลิต
แม่ปรานี อธิบาย สมาธิ ว่า “เราไม่คิดอะไร ที่ทำให้ใจวิตกกังวล ดังนั้น… ผลงานจึงดี” คนที่มีสมาธิ จะทำงาน ด้วยความระมัดระวัง ความผิดพลาด หรืออุบัติเหตุ จะมีน้อย เขาจะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะใจเขา ไม่วอกแวก และเขาสามารถ ประสานความคิด ความรู้สึก วาจา และการกระทำ เข้าด้วยกัน ตามทฤษฎี เมื่อคนทำงานอย่างมีสมาธิ คุณภาพของงาน และ การติดต่อทางสังคม ย่อมดีตามไปด้วย ผลงานที่เห็น ในศีรษะอโศก เช่น สวนที่เขียวชอุ่ม อาคารที่สร้างอย่างประณีต ความสัมพันธ์อันดี ระหว่างสมาชิก เหล่านี้ ย่อมแสดงว่า ศีรษะอโศก มี “เครื่องมือ” ที่ดี อโศกเน้น สมาธิ ในการทำงาน หรือ ลืมตาสมาธิ ซึ่งส่งเสริมการพัฒนาชุมชน
ประการสุดท้าย อโศกเน้นการทำงาน ด้วยความขยันหมั่นเพียร ขยันหมายความว่า ทำงานสำเร็จ ลุล่วงไปได้มาก ในเวลาที่จำกัด สมาชิกประจำ ที่อยู่ในชุมชนศีรษะอโศก ฝึกความขยันหมั่นเพียร โดยการตื่นเช้าตรู่ ตั้งแต่ ตี ๓ ครึ่ง วิธีนี้ทำให้มีเวลา ทำงานมากขึ้น
เอม แม้ยอมรับว่า ตัวเองเป็นคนตื่นสาย ได้คำนวณเวลา ของการตื่นเช้าตรู่ไว้ ดังนี้
หลายคนไม่เห็นว่า การตื่นเช้าตรู่ เป็นการได้เปรียบ คนทั่วไป ตื่นตี ๕ หรือ ๖ นาฬิกา ผมเองก็ไม่ได้ตื่น ตั้งแต่ตี ๓ แต่ถ้าผมตื่นตี ๓ ทุกวัน แต่ละวัน ผมก็จะมีเวลาตื่น มากกว่าคนทั่วไป ๒ ชั่วโมง เอา ๗ คูณ ๒ ได้ ๑๔ ผมก็จะมีเวลาทำงาน มากกว่าคนอื่น สัปดาห์ละ ๑๔ ชั่วโมง
สมาชิกอโศก จะเคลื่อนไหวอยู่ตลอดวัน มีกฎอยู่ข้อหนึ่ง ที่ศีรษะอโศก คือ ไม่มีใครนอนเวลากลางวัน ยกเว้น เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย หรือกำลังฟื้นไข้ ตรงกันข้ามกับสังคมไทย “ภายนอก” ที่เราอาจเห็นคนไทย กำลังนอนเอกเขนก ณ ที่หนึ่งที่ใด เวลาไหนก็ได้ ผู้เขียนเล่าว่า วันหนึ่ง เธอนั่งรถจากศีรษะอโศก ไปอุบลราชธานี เห็นหญิง ๓ คน แม่ ลูก หลาน นอนเหยียดยาว อยู่บนแคร่ไม้ไผ่ ใต้ร่มไม้ริมทาง ผู้เขียนรู้สึก แวบขึ้นมาทันทีว่า คนเหล่านี้ขี้เกียจ นี่แสดงว่า ผู้เขียนรับเอาหลักจริยธรรม ของอโศกเข้าไว้ โดยไม่รู้สึกตัว หลักจริยธรรมนี้ หมายความว่า สมาชิกของชุมชนศีรษะอโศก เป็นผู้มีผลงาน และกำลังพัฒนา ไปสู่จุดมุ่งหมายของเขา อย่างง่ายดาย ในทางตรงกันข้าม ชุมชนที่เต็มไปด้วย คนขี้เกียจ จะไม่สามารถ พึ่งตัวเอง อย่างศีรษะอโศก และอาจต้องอดตาย ถ้าหากไม่มีใครช่วยเหลือ
การพัฒนาสิ่งที่อยู่นอกเหนือวัตถุ
ผู้เขียนได้กล่าวถึงความก้าวหน้า ในการปฏิบัติธรรม ตามหลักพุทธศาสนา ของสมาชิกศีรษะอโศก และการปฏิบัตินั้น ส่งผลดี ให้แก่การพัฒนาทางวัตถุของชุมชน อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติธรรม ของแต่ละคน ก็มีผลลึกซึ้งต่อชุมชน ในสิ่งที่มองเห็นได้ยากด้วย
ผู้เขียนกล่าวว่า สมาชิกบางคน เคยเสาะแสวงหา สถานที่อยู่อาศัย ที่เหมาะสมสำหรับตนเอง และลูกหลาน เช่นเดียวกัน คนอเมริกัน ก็คำนึงถึงคุณภาพของชีวิตของเมือง ที่เขาจะย้ายเข้าไปอยู่ เขาจะตรวจดู อัตราส่วน ของอาชญากรรม โจรผู้ร้าย การลักขโมย ยาเสพติด โสเภณี เหล่านี้เป็นต้น เพราะสิ่งเหล่านี้ ทำลายความสงบสุข และคุณภาพของชีวิต
การรักษาศีล ตามหลักพุทธศาสนา ช่วยป้องกันการกระทำผิดได้มาก เมื่อเอ่ยถึงปัญหาที่ศีรษะอโศก
ท่านดินธรรม กล่าวว่า เราไม่มีปัญหา เกี่ยวกับยาเสพติด ยังมีการลักขโมยอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ส่วนมาก คนเอาของไปโดยไม่บอก – เขาควรขออนุญาตเสียก่อน
อารัตนา ขยับขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง เมื่อเขากล่าวถึง ความสัมพันธ์ทั่วๆไป
ถ้าไม่มีสิ่งเสพติด –ไม่มีเหล้า ไม่มีบุหรี่ ไม่มีไพ่ เหล่านี้ ก็แสดงว่าชุมชน มีความพึงพอใจ จึงไม่มีใครลักขโมย
โดยทั่วไป สมาชิกอโศกเชื่อว่า ภายในชุมชนของเขา มีความปลอดภัย มากกว่าข้างนอก
ผู้เขียนเล่าว่า ครั้งหนึ่ง ตอนงานฉลองปีใหม่ ที่ราชธานีอโศก ผู้เขียนไปพักที่โรงแรม ในตัวเมือง สมาชิกอโศก ต่างพากันเป็นห่วง ว่าจะไม่ปลอดภัย ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “คนข้างนอกไม่ดี” และ “น่ากลัว” ในทางตรงกันข้าม การเดินตามทางธรรม เพื่อพัฒนาจริยธรรม ชาวอโศก ได้สร้างบรรยากาศ แห่งการมีสันติ โดยไม่มีความเศร้าโศก
คนที่กำลังพัฒนาการละกิเลส จะสามารถเสียสละได้เก่ง นั่นคือเขาคิดว่า ในชีวิตนี้ เขาจะทำประโยชน์ ให้ผู้อื่น มากกว่าคว้าเอาสิ่งต่างๆ มาเป็นของตน ตามความอยาก อันนี้มีผลต่อความสัมพันธ์ ในระหว่าง หมู่สมาชิกด้วยกัน เกือบทุกคน ที่ศีรษะอโศก ทำตัวเหมือนเป็นพี่น้อง หรือ คนในครอบครัวเดียวกัน นั่นหมายถึง ความรับผิดชอบต่อกัน
อาพลีขวัญ บรรยายความสัมพันธ์อันนี้ว่า
ทุกคนที่นี่ อยู่กันอย่างพี่น้อง เราเสียสละ ไปบ้านไหน ถ้าเราหิวเราก็กินข้าวได้ เรากินที่บ้านนี้ เรากินที่บ้านนั้น เราใจดีและดูแล ซึ่งกันและกัน เราพึ่งพาอาศัยกันและกันได้ เมื่อยามแก่ เราพึ่งกันได้ เมื่อยามเจ็บไข้ได้ป่วย และ เรายังพึ่งกันได้ เมื่อเราตาย
อุปสรรคของการพัฒนาชุมชน
การจัดการและบริหารครอบครัว ที่มีคน ๓๐๐ คนให้อยู่ด้วยกัน ด้วยความผาสุก และทำงานสอดคล้อง ต้องกันนั้น เป็นเรื่อง สลับซับซ้อนมาก สมาชิกหลายคน ปรารภว่า ศีรษะอโศก ยังไม่ใช่ “ยูโทเปีย” หรือสังคม ซึ่งมีทุกสิ่งทุกอย่าง สมบูรณ์แบบ อย่างไรก็ตาม ขณะที่ชุมชนนี้ กำลังเดินไปสู่ จุดหมายอันนั้น สังคมนี้ ก็เผชิญกับอุปสรรค ที่จะต้องฟันฝ่า นับตั้งแต่ ปัญหาเล็กน้อย ในชีวิตประจำวัน เช่น การอยู่ร่วมกัน การทำงานร่วมกัน ไปจนถึงปัญหาใหญ่ ที่คนภายนอกประสบ ลองฟังความคิดเห็น ของสมาชิกบางคนดู
อาแก่นฟ้า: ปัญหาหรือครับ ตัวอย่างเช่น ปัญหาเกี่ยวกับการละกิเลส… เราจะทำอย่างไรดี ถึงจะพอใจกับ การมีน้อย พอใจกับสิ่งที่เรามี นี่เป็นปัญหานะครับ นอกนั้น ไม่ควรมีอะไร
มั๊วะ: เวลานี้มีปัญหาเยอะแยะ การไม่ตั้งใจปฏิบัติธรรม เป็นปัญหาหนึ่ง ที่จริงแล้ว เราไม่ได้เก่งอะไรจริงๆ สักอย่าง เช่น การศึกษา เราไม่ได้พยายามอย่างเต็มที่ นั่นคือ เราไม่มีหลักสูตร ที่ข้องเกี่ยวกับการศึกษาสมัยใหม่ พวกเรายังไม่เชื่อ ในการศึกษาสมัยใหม่นัก แต่เดี๋ยวนี้ ประชาชน เริ่มยอมรับมันแล้ว เราเพียงแต่ปล่อยให้มันดีขึ้นเอง นี่เป็นตัวอย่างหนึ่ง ของการศึกษา เรายังด้อยอยู่ ในหลายสิ่งหลายอย่าง เราต้องค่อยๆพัฒนาไป ไม่ว่ากิจกรรมที่เราทำอยู่ หรือว่า … รายละเอียด… แต่ไม่มีอะไร ที่เราทำไม่ได้
โดยทั่วไป ชาวศีรษะอโศก ไม่เป็นทุกข์กับปัญหามากนัก เพราะเขาถือว่า สามารถแก้มันได้ ด้วยการปฏิบัติ แต่ตรงกันข้าม เขากลับคำนึงถึง ปัญหาที่ใหญ่กว่า เช่น ความเห็นที่แตกต่างกัน จำนวนผู้ใหญ่ ที่ไม่เพียงพอ และการพึ่งตนเอง ที่ยังไม่สมบูรณ์
ความเห็นที่แตกต่างกัน
ศีรษะอโศก เป็นชุมชนที่มีคนคละกันมาก มีทั้งสมาชิก ที่เป็นคนโสด คนมีครอบครัว คนหย่าร้าง พ่อหม้าย แม่หม้าย คนมีอายุ ตั้งแต่ ๑๘ ปี ไปจนถึง คนอายุ ๘๔ ปี คนมีลูกและคนไม่มีลูก คนจีน คนภาคกลาง คนภาคเหนือ คนภาคอีสาน มีคนมาจากชนบท ในเมือง กรุงเทพฯ ระดับการศึกษาแตกต่างกัน บางคน ไม่เคยเข้าโรงเรียน บางคนจบชั้นปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก อาชีพเดิม ก็หลากหลาย เกือบ ๔๐ อาชีพ บางคนเคยนับถือศาสนาคริสต์ บางคนเป็นคริสต์ นิกายมอร์มอน สมาชิกบางคน เพิ่งเข้ามา เป็นสมาชิกอโศก ได้ปีเดียว แต่บางคน อยู่กับอโศกมา ๒๕ ปี ทุกคนมีกิจวัตร แตกต่างกัน นับตั้งแต่ เป็นคนวัด จนถึงสมณะ บางคนมาอยู่ศีรษะอโศก เพื่อต้องการพาลูก มาเข้าโรงเรียน บางคนมาเรียน การเพาะปลูก ตามธรรมชาติ บางคนมา เพื่อจะพัฒนาสังคมไทย บางคนมา เพื่อหาความสงบ ดังนั้น จึงไม่ต้องสงสัยว่า ทำไมคนในชุมชนนี้ มีความคิดเห็นแตกต่างกัน
ต่อไปนี้ เป็นคำพูดของสมาชิก ๓ คน คือ สมณะ นักศึกษามหาวิทยาลัย และ อดีตผู้นำชุมชน ซึ่งพูดถึง ความแตกต่าง ในภูมิหลัง ที่ทำให้ความคิดเห็น และ ระดับของจริยธรรมในชุมชน แตกต่างกัน
ท่านดินธรรม : มีปัญหามาก ปัญหาเกิดเพราะ มากคนมากความคิด จริยธรรมก็ต่างระดับกัน ด้วยความไม่เท่ากัน ความเห็นจึงแตกต่างกัน บางคนมาจาก ต่างภูมิลำเนา ต่างครอบครัว บางครอบครัว มีสิ่งต่างๆพร้อม จึงไม่ค่อยมีปัญหา แต่บางครอบครัว ขาดโน่นขาดนี่ จึงมีปัญหาแยะ อย่างไรก็ตาม เขามาที่นี่ ก็เพื่อจะฝึกฝนตนเอง
เอม : ปัญหาที่นี่ก็คือ … คนในชุมชนนี้… ความคิดเห็น ยังไม่เป็นไปในแนวเดียวกัน คนแต่ละคน ซึ่งอาศัยอยู่ที่นี่ ก็ยังไม่สมบูรณ์ เรายังต้องปฏิบัติไปด้วยกัน ยังไม่ดีเลย ดังนั้น เราจึงยังมีปัญหา ไม่ว่าเกี่ยวกับเด็กนักเรียน หรือผู้ใหญ่
อาเปิ้ม : ปัญหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแนวของความคิด… นั่นคือ เรามีความแตกต่างกัน ในความคิด คนมาจากที่ต่างกัน มีความคิดเห็นต่างกัน การปรับความคิด ให้เข้ากับ แนวคิดทางศาสนา จึงลำบาก
คนเหล่านี้เห็นว่า ความสอดคล้อง ดีกว่าความแตกต่าง เพราะว่าการมองสิ่งใด ในหลายแง่หลายมุม แม้อาจนำ ความคิดสร้างสรรค์ มาสู่ชุมชนก็จริง แต่ในขณะเดียวกัน ก็อาจทำให้ชุมชน เขวออกนอกทาง หลายคนเป็นห่วงว่า ความคิดหลากหลาย ทำให้ชุมชน โอ้เอ้ ดำเนินไปไม่ถึง จุดมุ่งหมายปลายทางเสียที บางคน มีความคิดเห็น แตกต่างออกไป แม้ในเรื่อง จุดหมายปลายทางของชุมชน เช่น
-
เพื่อให้คนมาปฏิบัติด้วยกัน ถือศีล กินมังสะวิรัติ ทำงานและเสียสละ
-
เพื่อเสริมสร้างให้ทุกคนเป็นอรหัต
-
เพื่อมนุษยชาติ ช่วยคน ช่วยให้คนพ้นทุกข์ ให้มีความร่าเริง และเพื่อการประหยัด
-
เพื่อช่วยสังคมไทยให้ปลอดภัย จากการตกเป็นทาสของชาติอื่น และ
-
จุดมุ่งหมายที่สำคัญ คือการสร้างชุมชน ที่เป็นต้นแบบ และขยายต้นแบบนี้ ไปสู่ชุมชนอื่นๆ ที่ต้องการพัฒนา คุณภาพของชีวิต