สัมมาพัฒนา : สันติอโศก ขบวนการพุทธปฏิรูปแห่งประเทศไทย
จูลิอานา เอสเซน เขียน
บทที่ ๖
สร้างสังคมไทย
กระบวนการขั้นสุดท้าย ของการพัฒนาชุมชน ตามแบบอโศก คือ การสร้างสังคมไทย ถึงแม้ว่าบางคน จะมองศาสนาพุทธ ตามประเพณี ว่าเป็นศาสนาของปัจเจกบุคคล ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับสังคม แต่ชาวพุทธ ที่เกี่ยวข้องอยู่กับสังคม เช่น อโศกก็ยังมีอีกมาก วิธีที่จะเอาความคิดทางพุทธ แบบประเพณีนิยม มาผนวกกับพุทธ ที่เกี่ยวข้องกับสังคม ก็คือการเสียสละ ชาวอโศก เสียสละสิ่งต่างๆให้ผู้อื่น ที่อยู่นอกเหนือจากชุมชนของตน วิธีนี้ทำให้สมาชิกอโศก มีโอกาส “ทำบุญ” เพื่อเป็นการเสริมสร้างบารมี ของความเป็นปัจเจกบุคคล ไปในตัว
ต่อคำถามเกี่ยวกับทิศทาง ของการทำงาน ผู้นำของศีรษะอโศก ตอบแบบนักปฏิวัติ ที่กำลังปฏิบัติการ ปลดปล่อยสังคม (จากภาวะเศรษฐกิจ ที่กำลังถูกบีบคั้น) ว่า
เรากำลังเดินทางไปสู่ การกู้สังคมไทย ประเทศไทยของเรา เข้าสู่ภาวะ เศรษฐกิจคับขัน ในปี ๒๕๔๑ คนไทยส่วนใหญ่ มีความทุกข์แสนสาหัส แต่ศีรษะอโศก และชุมชน ที่อยู่ในเครือข่ายอโศก ไม่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ แต่อย่างใด เพราะว่าเราไม่ได้เลือก อยู่ใต้ภาวะนั้น เราไม่ต้องหนี หรือต่อสู้ กับภาวะคับขัน ตรงกันข้าม เรามองเห็นหนทาง ที่จะช่วยเพื่อนมนุษย์ เราต้องเสียสละ เพิ่มพลังที่จะช่วยสังคม …. แม้ว่ากิจกรรมหลายอย่าง ในศีรษะอโศก ยังไม่พร้อม สำหรับสาธารณะ แต่เราต้องเปิดประตูของเราให้กว้าง เพื่อให้คนภายนอกมาสำรวจ เพราะว่า สมณะโพธิรักษ์ เขียนโคลงไว้บทหนึ่ง ในวันปีใหม่ และชุมชนอโศก ยึดถือเป็นนโยบาย โดยปริยาย โคลงบทนั้น ความว่า
รวมความมีใจกว้างของคุณ
เป็นที่หลบภัยของสังคม
สร้างนาวาบุญนิยม
เพื่อช่วยชีวิตคนทั้งมวล
ปัจจุบันนี้ (๒๕๔๓) มีสมาชิกประจำ อยู่ที่ศีรษะอโศก ๓๑๕ คน ทุกคนต้องทำงานเร็ว เพราะว่าชุมชนของเรา ต้องรักษามาตรฐานการผลิต และ แรงงานส่วนหนึ่ง สูญไปในการบริการสัมมนา และให้การศึกษาแก่ผู้มาเยี่ยมเยียน ทุกคน จึงต้องทำงานหนัก แม้จะไม่ได้ค่าจ้าง เราก็พอใจกับผลบุญ เรามีความภาคภูมิใจ ที่ได้เสียสละให้สังคม และประเทศชาติของเรา
จะเห็นได้ว่า กลุ่มอโศก มีความมุ่งมาตปรารถนา ที่จะช่วยเหลือสังคมไทย ลดแรงกดดัน จากความคับขันทางเศรษฐกิจ นอกเหนือไปจาก หน้าที่พัฒนาจิตใจ ของสมาชิกแต่ละคน
ความจริง วิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ นำความลำบากมาสู่คน ทั้งในเมืองหลวง และชนบทพอๆกัน แต่ความยากจน คืบคลานเข้ามา สู่ถิ่นสลัมในกรุงเทพ ฯ และดินแดนภาคอีสาน ก่อนที่เศรษฐกิจของประเทศ จะล่มจม
หมูเฒ่า ซึ่งเป็นสมาชิกศีรษะอโศก และเป็นคนภาคอีสาน เล่าว่า “บางครอบครัว ยากจนจริงๆ จนถึงกับ ต้องให้เด็กกินดิน ที่แตกระแหง”
ต่อไปนี้ เป็นสิ่งที่อโศก ช่วยเหลือสังคมไทย
การช่วยเหลือทางวัตถุและจิตใจ
การพัฒนาทางวัตถุและจิตใจ เป็นสิ่งอาศัย ซึ่งกันและกัน การบริโภควัตถุ แต่พอควร เป็นรากฐานของการปฏิบัติธรรม และการมีศีลธรรม ย่อมนำมา ซึ่งการผลิตวัตถุปัจจัยที่มีคุณค่า ปัจจัยที่จำเป็นในการดำรงชีพ คือปัจจัย ๔ ซึ่งมีอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ถ้าขาดปัจจัยเหล่านี้ บุคคลจะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ หรือปฏิบัติธรรมให้สมบูรณ์ได้ ในทำนองเดียวกัน ถ้าขาดคุณธรรม การผลิตปัจจัยเหล่านี้ ก็จะไม่มีคุณภาพ
อาสัมพันธ์ อธิบายว่า การปฏิบัติธรรมของชาวพุทธ จะช่วยเศรษฐกิจ ของประเทศไทย
เราจะช่วยลดค่าใช้จ่าย ของประเทศไทย ลงได้มาก ถ้าเราไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่เล่นการพนัน และเราจะมีกำลัง เวลา สติ ปัญญา และสุขภาพดี ดังนั้น นอกจาก ช่วยลดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังช่วยเพิ่มรายได้ ให้แก่ประเทศด้วย
ความเกี่ยวเนื่อง ระหว่างการพัฒนา ทางวัตถุและจิตใจ ในระดับที่ลึกซึ้ง อาจเห็นได้จาก มรรคมีองค์ ๘ (เห็นชอบ คิดชอบ พูดชอบ เพียรชอบ กระทำชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ มีสติชอบ ใช้สมาธิชอบ) ผู้เขียนยกตัวอย่าง สมณะโพธิรักษ์ ซึ่งใช้ชีวิตตามแบบ มรรคมีองค์ ๘
ก่อนออกบวช สมณะโพธิรักษ์ เป็นนักจัดรายการโทรทัศน์ และนักประพันธ์เพลง ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง (รู้จักกันในนาม รัก รักพงศ์) ความสำเร็จในอาชีพ ทำให้ท่าน มีความเป็นอยู่อย่างดี เช่น มีบ้านหลังใหญ่ รถยนต์ราคาแพง และความฟุ่มเฟือย อย่างคนหนุ่มทั้งหลาย แต่แทนที่ จะเพลิดเพลิน อยู่กับชื่อเสียงและเงินทอง รัก รักพงศ์ กลับเห็นว่า ชีวิตเช่นนั้น ไม่มีค่า “เหมือนกับน้ำ ที่กำลังไหลผ่านไป” ท่านหันมาสนใจ พระพุทธศาสนา ในขณะที่อาชีพธุรกิจบันเทิงของท่าน กำลังรุ่งเรือง หลังจากปฏิบัติธรรม อย่างเอาจริงเอาจังอยู่ ๒ ปี ท่านลาออกจากงานโทรทัศน์ แล้วบวชเป็นพระภิกษุ เปลี่ยนแปลง แนวทางชีวิต ให้เข้ากับ มรรคมีองค์ ๘ และสนับสนุน ให้คนอื่นปฏิบัติตาม
สมณะโพธิรักษ์ และขบวนการอโศก จึงเกิดขึ้น ขบวนการนี้ ได้ประดิษฐาน และขัดเกลาความเป็นจริง ของวัตถุบางอย่าง ให้สะท้อนคุณค่าทางพุทธศาสนา อย่างที่เห็นอยู่ ในปัจจุบันนี้
การพิมพ์โฆษณา
นับเป็นเวลา ๒๕ ปี ที่ขบวนการอโศก อาศัยสิ่งพิมพ์ ติดต่อกับประชาชน ที่อยู่นอกวงการปฏิบัติ เพื่อความเข้าใจทัศนะ และการดำเนินงานของอโศก เดี๋ยวนี้ มูลนิธิธรรมสันติ รับหน้าที่ จัดพิมพ์วารสาร สำหรับขบวนการอโศก เช่น วารสารรายไตรมาส
สารอโศก เพื่อให้ข่าวสารแก่สมาชิก และคนภายนอก นอกจาก คอลัมน์ประจำ เช่น “๑๕ นาทีกับพ่อท่าน” “ซาบซึ้งกับธรรม” และ “จดหมายจากญาติธรรม” สารอโศก ยังลงบทความ เกี่ยวกับโอกาสพิเศษ เช่น วันเข้าพรรษา วันทำงานครบ ๓๐ ปี ของพ่อท่านโพธิรักษ์ สรุปรายงาน ของอโศกทั่วประเทศ และเหตุการณ์ ของแต่ละชุมชน ข้อคิดเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ เช่น วัฒนธรรม ดนตรีไทย
เราคิดอะไร เป็นวารสารที่ออกรายปักษ์ เป็นเวทีอภิปราย ปัญหาสังคม คอลัมน์ประจำก็มี จดหมายเปิดซอง จากอดีตผู้ว่าราชการ กทม. และสมาชิกอโศก พลตรีจำลอง ศรีเมือง จดหมายจากผู้อ่าน ความคิดทางการเมือง ในพุทธศาสนา และ ครัวมังสวิรัติ บทความแนวหน้าใน เราคิดอะไร มีน้ำหนัก ไปในแนว วิพากย์วิจารณ์ มากกว่า สารอโศก บทความ เช่น “คนไทยจะเป็นทาส ไปนานเท่าไรหรือ” “ผลประโยชน์ของคนที่มีคุณค่า” เหล่านี้ปรากฏอยู่ใน เราคิดอะไร
วารสารที่ออกประจำ อีกฉบับหนึ่ง คือ
ดอกหญ้า เป็นวารสารสำหรับเด็ก ออกเป็นรายเดือน มีบทความ เกมส์ รูปการ์ตูน แบบที่จะสื่อ ความคิดของอโศก ไปสู่ผู้อ่านรุ่นเยาว์
แม้ว่าอโศก จะไม่เกี่ยวข้องโดยตรง กับการพิมพ์ แต่สมาชิกหลายคน รู้จักอโศก เป็นครั้งแรก จากการอ่านวารสาร และปัจจุบัน ก็ยังอ่านวารสาร เป็นประจำ สมาชิกอย่างน้อย ๒ คน อธิบายว่า การแจกหนังสือ ให้สาธารณะ โดยไม่คิดเงิน ก็เป็นการช่วยสังคมอย่างหนึ่ง
ท่านดินธรรม เราเผยแพร่แก่นแท้ ของการดำรงชีวิต ในรูปหนังสือ เราพิมพ์หนังสือ แล้วแจกฟรี นี่เป็นการช่วยสังคม เราแจก สารอโศก ดอกหญ้า และ หนังสืออื่นๆ เราไม่คิดเงิน เราส่งหนังสือ ให้สมาชิก หรือ ใครที่ต้องการ ใครมาหา เราก็แจกหนังสือ
อาจันทิมา กลุ่มอโศก ส่วนใหญ่ช่วยสังคมไทย โดยการผลิตหนังสือ และเทป ผู้ที่สนใจจะอ่าน ฟัง และปฏิบัติตาม พุทธศาสนาที่แท้จริง ผลประโยชน์ ก็จะเกิดขึ้นกับตัวเขาเอง ครอบครัว และชุมชน ที่เขาอาศัยอยู่
เกษตรกรทุกคน ซึ่งมารับการอบรม ที่ศีรษะอโศก จะได้รับแจก วารสาร สารอโศก บางคนสนใจอ่าน บางคนเฉยๆ แต่ทุกคน ก็เก็บหนังสือกลับบ้าน เพราะถือว่า การอ่านหนังสือธรรม เป็นการสร้างบุญอย่างหนึ่ง ผู้เขียนเอง ก็ได้รับแจกหนังสือ เป็นตั้งๆ แสดงให้เห็นว่า ศีรษะอโศกแจกหนังสือ ให้แขกที่มาเยี่ยมเยียน
คำอธิบายภาพ “สิ่งสำคัญที่สุด ของชุมชนศีรษะอโศก” ของท่านดินธรรม ก็คือ หนังสือธรรมะ ชาวอโศกถือหลัก “เราจะพิมพ์หนังสือธรรมะ สำหรับพลโลก” วัตถุประสงค์ ของการแจกหนังสือ คือ
-
เพื่อเพิ่มแรงธรรมให้แก่ผู้อ่าน
-
เพื่อรำลึก ทบทวน สรุปบทธรรม และกิจกรรมเกี่ยวกับธรรม
-
เพื่อเป็นเข็มทิศชี้แนะแนวทาง การปฏิบัติที่ถูกต้อง และ
-
เพื่อให้คนหนุ่มสาว ได้รับข่าวสาร จากการศึกษาธรรม และการปฏิบัติ ตามแนวอโศก เพื่อที่จะนำไปใช้ ในการงาน ซึ่งเป็นหนทางเดียวกันกับ ศาสนา
วัตถุประสงค์ทั้งสี่ข้อนี้ ปรากฏอยู่ บนปกใน ของ สารอโศก แต่ท่านดินธรรม เพิ่มเติมอีกข้อหนึ่ง ดังนี้
-
เพื่อส่งเสริมจิตสำนึกและปัญญา ทำให้เกิดความตระหนัก ถึงคุณค่า และพื้นฐานทางศาสนา ในการแก้ปัญหาชีวิต และสังคม